โรคพิษสุนัขบ้า เป็นแล้วเสียชีวิต100%
โรคพิษสุนัข ช่วงนี้กำลังระบาดเลย ในจังหวัดสงขลาก็มีหลายหน่วยงานออกมาเตือนกันแล้ว ยังไงก็ระมัดระวังตัวกันด้วย เพราะโรคพิษสุนัขบ้า เป็นแล้วเสียชีวิต100%
ด้วยความปรารถนาดีจากดร.กัลยา ตันสกุล สาขาวิชาสาธารณสุขชุมชน มหาวิทยาลัยหาดใหญ่
เมื่อทางปศุสัตว์ จังหวัดสงขลาได้ประกาศให้พื้นที่ 5 อำเภอของจังหวัดสงขลาเป็นเขตโรคระบาดพิษสุนัขบ้าในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอรัตภูมิ อำเภอคลองหอยโข่งและอำเภอสะเดา รวมทั้งเตรียมประกาศเพิ่มเติมอีก 1 อำเภอ คืออำเภอเมืองสงขลาช่วงต้นเดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมา
ทางสาขาวิชาสาธารณสุขชุมชน มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ขอเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์เพื่อลดอัตราผู้ป่วยจากโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องด้วยโรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคหนึ่งที่ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อมีอัตราการเสียชีวิต100%
โรคพิษสุนัขบ้า หรือที่เรารู้จักกันในชื่อโรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดต่อร้ายแรงชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ ซึ่งพบเชื้อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น คน สุนัข แมวลิง ชะนี กระรอก ค้างคาว ฯลฯ จากทั่วโลกมีรายงานผู้ป่วยที่พิสูจน์จากห้องปฏิบัติการแล้วว่าเป็นพิษสุนัขบ้า แต่สามารถรอดชีวิตมาได้เพียง 6 ราย โดยใน 5 รายมีประวัติว่าได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน ส่วนอีก 1 รายไม่เคยได้รับวัคซีน แต่พิสูจน์แล้วว่าติดเชื้อมาจากค้างคาว จึงเป็นที่ตั้งข้อสังเกตว่า เชื้อพิษสุนัขบ้าสายพันธุ์ที่มีอยู่ในค้างคาวอาจก่อโรคไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ที่มีอยู่ในสุนัข
เมื่อเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าเข้าสู่ร่างกายแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการทางประสาทโดยเฉพาะระบบประสาทส่วนกลางทั้งนี้ไม่มียาตัวไหนหรือวิธีไหนที่จะฆ่าเชื้อไวรัสหรือรักษาให้หายได้ แม้ว่าผู้ป่วยจะได้รับการดูแลอย่างดีในห้องไอซียู (ICU: Intensive Care Unit) กล่าวได้ว่าถ้าเป็นแล้วเสียชีวิตทุกราย
ดังนั้น การดูแลตนเองและการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นสิ่งที่สำคัญโดยมีวิธีปฏิบัติตน ดังนี้
ผู้ที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่ว่าจะเป็นหมา แมวกระรอกกระต่าย หนูชนิดที่เป็นสัตว์เลี้ยง ลิง ควรพาสัตว์ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าตามที่สัตว์แพทย์กำหนด
สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ เช่น หมู วัว ควาย แพะ แกะ ม้า แม้ว่าจะพบโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เหล่านี้ได้บ้าง แต่ไม่พบมีความสำคัญในการนำโรคมาสู่คน จึงไม่จำเป็นต้องพาสัตว์ไปฉีดวัคซีน แต่ถ้าคนถูกสัตว์เหล่านี้กัด คนก็ต้องไปรับการฉีดวัคซีน
คนที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคสูงได้แก่ สัตว์แพทย์และผู้ช่วย คนเพาะสัตว์เลี้ยงขาย ร้านขายสัตว์เลี้ยง เจ้าหน้าที่กำจัดสุนัขและแมวจรจัด เจ้าหน้าที่บ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ เร่ร่อนต่างๆ บุรุษไปรษณีย์ คนที่ทำงานในห้องปฏิบัติการ (Lab) ที่ต้องเกี่ยวข้องกับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าควรได้รับวัคซีนแบบป้องกันล่วงหน้า (Preexposure prophylaxis) คือให้ฉีดวัคซีนในวันที 0, 3 และ 21 หรือ 28 และให้ฉีดกระตุ้นซ้ำ 1 เข็มทุกๆ 5 ปี
ผู้ที่ในอดีตเคยได้รับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าครบ 5 เข็มหรืออย่างน้อย 3 เข็มแรกที่ตรงตามนัด เมื่อถูกสัตว์กัดอีกไม่จำเป็นต้องได้รับสารภูมิคุ้มกันต้านทาน แม้จะมีแผลชนิดเลือดออกและให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นเพียง 2 เข็มภายในวันที่ 0 และ 3 โดยจะฉีดแบบเข้ากล้ามหรือเข้าผิวหนังก็ได้ แต่ถ้าฉีดเข็มสุดท้ายมายังไม่เกิน 6 เดือนอาจกระตุ้นแค่เพียง 1 เข็ม บางคำแนะนำบอกว่า ถ้าเข็มสุดท้ายเลย 5 ปีมาแล้ว ให้เริ่มต้นใหม่เหมือนคนยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน แต่สถานเสาวภาแนะนำว่า ไม่ว่าจะเคยได้รับมากี่ปีแล้วก็ตาม ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นใหม่ ให้ฉีดกระตุ้นก็เพียงพอ
หญิงตั้งครรภ์สามารถรับวัคซีนและสารภูมิคุ้มกันต้านทานได้ ไม่มีผลข้างเคียงกับทารกในครรภ์
ขอบพระคุณภาพประกอบบทความจาก เว็บไซต์สำนักระบาดวิทยาและเว็บไซต์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ