24 มี.ค. วันวัณโรคสากล สคร. 12 สงขลา ชวนรวมพลัง ยุติวัณโรค


21 มี.ค. 2561

24  มี.ค. “วันวัณโรคสากล” สคร. 12 สงขลา  ชวนรวมพลัง ยุติวัณโรค

tb.jpg

วันที่ 24 มีนาคม ของทุกปี องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้เป็นวันวัณโรคสากล ซึ่งในปี 2561 นี้รณรงค์ภายใต้แนวคิด “คุณคือผู้นำ แห่งการยุติวัณโรค เพื่อเมืองไทยปลอดภัยวัณโรค ” WANTED: LEADERS FOR A TB-FREE WORLD (You can make history. End TB) โดยมุ่งหวังให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันเพื่อจะยุติการระบาดของวัณโรค และส่งเสริมให้ประชาชนเกิดการรับรู้ ตื่นตัว ในการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันวัณโรค อันนำไปสู่จุดมุ่งหมายสูงสุดคือ “เมืองไทยปลอดวัณโรค เพื่อโลกปลอดวัณโรค”

ดร.นายแพทย์สุวิช  ธรรมปาโล  ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลากล่าวว่า  หน่วยงานทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันดำเนินงานเพื่อให้การควบคุมป้องกันวัณโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล  คือจะต้องเร่งรัดการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่และรักษาผู้ป่วยวัณโรคทุกรายให้หายขาด ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมการสังเกตตนเองในเบื้องต้นได้ พร้อมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัณโรค  ลดการรังเกียจ  การตีตรา สำหรับประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค ผู้ต้องขังในเรือนจำ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และแรงงานต่างด้าว  จะต้องรีบตรวจหาวัณโรคให้เร็วที่สุดเมื่อพบอาการที่น่าสงสัย ซึ่งวัณโรคนั้นสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากสามารถรู้ว่าป่วยเป็นวัณโรคได้เร็ว และรักษาได้เร็ว และยังช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้อีกด้วย  

วัณโรคเป็นโรคติดต่อเรื้อรัง เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ส่วนมากในผู้ใหญ่มักพบเป็นที่ปอด ในเด็กอาจเป็นที่อวัยวะอื่นร่วมด้วย เช่น ต่อมน้ำเหลือง เยื่อหุ้มสมอง กระดูก เด็กมักจะได้รับเชื้อจากผู้ใหญ่ที่เป็นวัณโรคระยะแพร่เชื้อ โดยเชื้อจะออกมากับการไอ จาม ทำให้เชื้อกระจายในอากาศ และเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจเอาเชื้อเข้าไป ผู้ที่เสี่ยงจะป่วยเป็นวัณโรคคือผู้ที่อยู่ในภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ติดเชื้อ เอชไอวี หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคถุงลมโป่งพอง อาการของวัณโรคขึ้นกับอวัยวะที่เป็น  ที่พบบ่อยคือวัณโรคปอด จะมีอาการไอเรื้อรัง ไอติดต่อกันเกินสองสัปดาห์ มีไข้ตอนบ่ายๆ เหงื่อออกตอนกลางคืน  น้ำหนักลด เหนื่อยง่าย คนที่เป็น นานๆ อาจไอมีเลือดปน วัณโรคที่อื่นๆ จะมีไข้เรื้อรัง และอาการอื่นตามอวัยวะที่เป็นโรค เช่น ที่สมองจะมีอาการปวดหัว อาเจียน ซึมลง ชัก ที่กระดูกสันหลังอาจทำให้ กระดูกสันหลังคด หรือแตกออกเป็นฝี หากเป็นที่ต่อมน้ำเหลือง จะมีต่อม น้ำเหลืองโต หรือแตกออกเป็นฝี

ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า วัณโรคเป็นโรคติดต่อสำคัญที่ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขไทย เป็นสาเหตุสำคัญของการป่วยกว่า 120,000 รายต่อปี และการตายกว่า 12,000 รายต่อปี ที่สำคัญยังก่อให้เกิดเป็นวัณโรคดื้อยาหลายขนานที่คาดว่าอาจมีมากถึง 4,500 รายในประเทศไทย แต่ปัจจุบันการรายงานจำนวนผู้ป่วยนั้นมีประมาณร้อยละ 62.9 จากที่คาดประมาณเท่านั้น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้ตระหนักถึงปัญหานี้มาโดยตลอด จึงได้ดำเนินงานควบคุมวัณโรคโดยต้องอาศัยเครือข่ายการประสานความร่วมมือของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง วัณโรครักษาให้หายขาดได้ หากกินยาครบตามเกณฑ์ที่กำหนด หากกินยาไม่ครบเสี่ยงที่จะเป็นวัณโรคดื้อยา รักษาไม่หาย  หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

 

ข่าวโดย อรรฆวรรณ สุขคล้าย นักประชาสัมพันธ์ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา