ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านภาวการณ์ทางสังคมเดือนมีนาคม 2561


3 เม.ย. 2561

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านภาวการณ์ทางสังคมเดือนมีนาคม 2561

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านภาวการณ์ทางสังคมในเดือนมีนาคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางสังคม และการเปลี่ยนแปลงของความสุขโดยรวมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง พบว่า เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 61.20 เพศชาย ร้อยละ 38.80 ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 35-44 ปี คิดเป็นร้อยละ 36.50 และมีระดับการศึกษาปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 34.70 

001.jpg

ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านภาวการณ์ทางสังคมเดือนมีนาคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม ด้านภาวการณ์ทางสังคมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์

ดัชนีความเชื่อมั่นด้านภาวการณ์ทางสังคมพบว่า ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) ความมั่นคงในอาชีพ การแก้ปัญหายาเสพติด และเสถียรภาพทางการเมือง มีความเชื่อมั่นลดลง ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากประชาชนเกิดความวิตกกังวลในความไม่แน่นอนของรายได้จากภาคเกษตรที่ลดลงและมีแนวโน้มลดลงอีก รวมทั้งการตรวจสอบข้าราชการและหน่วยงานภาครัฐที่พบว่าเกิดการคอร์รัปชั่นในหลายหน่วยงานทั่วประเทศส่งผลเชิงลบต่อเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลที่ต้องจริงจังในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา เป็นผลมาจากความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและประชาชนที่ร่วมกันเฝ้าระวังและดูแลป้องกัน

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าความสุขในการดำเนินชีวิต และฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) จะดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 32.60 และ 30.70 ตามลำดับ นอกจากนี้การแก้ปัญหายาเสพติด และเสถียรภาพทางการเมืองจะดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 34.90 และ 33.80 และปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อความสุขในการดำเนินชีวิตในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 32.40 รองลงมา คือ หนี้สินครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 22.50