ศาลาทวดลัง ตำนาน ที่มา ชื่อบ้าน นามเมือง
ทุกที่มีที่มาเรื่องเล่าขานให้ผู้คนจดจำ เช่นเดียวกับตำบลควนลัง จากตำบลชนบทในอดีตก้าวสู่เทศบาลเมืองในวันนี้และกำลังเติบโตเรื่อยๆ ตำบลควนลัง มีที่มาที่ไปอย่างไร เชื่อว่าหลายคนสนใจใคร่รู้แน่นอน
ได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับทวดลัง มานานแล้วเมื่อวันก่อนมีโอกาสเลยแวะไหว้ทวดลัง ที่ศาลาทวดลัง ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสายเอเชีย เชิงสะพานข้ามแยกสนามบินใน เยื้องๆ สำนักงานเทศบาลเมืองควนลัง ว่ากันว่าทวดลัง คือที่มาของชื่อตำบลควนลัง และในทุกปีจะมีการจัดงานสมโภชทวดลังด้วย
พื้นที่ภายในศาลาทวด ไม่กว้างมากนักศาลาถูกยกสูงจากพื้นพอสมควรคงป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วมเพราะตรงนี้อยู่ริมคลองต่ำ ด้านหลังศาลามีต้นโพธิ์ใหญ่แผ่กิ่งใบให้ความร่มรื่นเป็นอย่างดี ที่หน้าทวดมีทั้งพวงมาลัย และยังมีหมวกอิสลามวางอยู่ด้วย ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นชุมชนที่มีทั้งชาวไทยพุทธ ไทยมุสลิมได้เป็นอย่างดี
สิ่งของที่วางอยู่เบื้องหน้ามทั้งไก่ปั้น ไข่ไก่ พวงมาลัย ช่อดอกไม้ คุณพี่ท่านหนึ่งที่พาหลานมาทำความสะอาดศาลาทวด บอกว่า ทวดศักดิ์สิทธิ์สามารถบนบานขอพรได้ และมีผู้มาขอพรรวมถึงมาแก้บนอยู่ไม่ขาดสาย ศาลาทวดควนลัง นับเป็นมรดกสำคัญที่อยู่คู่เมืองควนลัง ให้ลูกหลานได้เรียนรู้เรื่องราวกันสืบต่อไปไม่จบสิ้น
ที่มาของทวดลัง จากเว็บไซต์เทศบาลเมืองควนลัง
ควนแห่งนี้ตามที่ผู้เฒ่าเล่ากันต่อมาว่ามีสัตว์ร้ายมากมาย โดยเฉพาะเสือ จึงไม่ค่อยมีใครกล้าเดินผ่าน หรือหาของป่าเป็นควนที่มีดินอุดมสมบูรณ์ลักษณะดินควนนี้ ชาวบ้านเรียกว่า "ดินสีดอกบวบ" เป็นดินที่มีคุณภาพดีมาก ๆ เพราะเหตุนี้ เองทำให้ดินควนลูกนี้มีต้นไม้สูงใหญ่ ขนาด 4-5 คนโอบ จึงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ร้ายนานาชนิด ที่มากที่สุดคือ เสือ และบ่อย ครั้งที่ชาวบ้านเห็นเสือออกมา ล่าวัว ควายริมทุ่ง หรือเข้าไปอาละวาดในหมู่บ้าน
และต่อมาชาวบ้านละแวกใกล้เคียงนั้นได้ถาง ป่าโค่นต้นไม้เพื่อแปรสภาพเป็นที่ทำกิน โดยการทำไร่ ทำสวนยางบ้าง สวนผลไม้บ้าง เมื่อชาวบ้านถางโค่นต้นไม้แล้ว เข้า จัดการเผาไม้เหล่านั้น จนหมดสิ้น แล้วทำการหน่ำข้าว (ปลูกข้าวไร่) ส่วนมากเขาจะปลูกข้าวพะยอม ซึ่งเป็นข้าวไร่ที่มีกลิ่นหอม น่ารับประทาน และข้าวเหนียว โดยเฉพาะข้าวเหนียวดำ เมือหน่ำข้าวแล้ว ต่อมาข้าวจะออกรวง เมื่อข้าวออกรวงก่อนที่ข้าวจะ สุก (รวงแก่) ชาวบ้านจะทำหุ่นไล่นก ไล่กา ซึ่งเฉพาะบริเวณนี้มีนกมากพันธุ์ หลายชนิด และนกนี้จะกินข้าว ทำลายข้าวโดยการลงไปกินเป็นฝูง ๆ นับพันตัว
จากการทำหุ่นไล่นก ไล่กานี้เอง จึงทำให้เกิดมีตำนานทวดลัง (ตาลัง) ขึ้น และเป็นที่มาของชื่อตำบลควนลังจนปัจจุบัน ความเป็นมาดังนี้ มีผู้เฒ่าผู้หนึ่งมาจากไหนชื่ออะไรไม่ปรากฏเข้าใจกันว่าเป็นตาหมอเฒ่าได้ใข้หวายผูกเป็นรูปหุ่นขี้ผึ้งรูปหนึ่ง หวายที่ใช้นั้นเป็น หวายยัง (ชื่อหวายชนิดหนึ่ง) ซึ่งสมัยนั้นหาได้บนควนแห่งนี้เมือผูกเป็นรูปหุ่น แล้วทำพิธีปลุกเสก และบรรจุปลอทตะกรุดไว้ภายในแล้วนำไปปักไว้ในไร่ข้าวเพื่อได้ดู และรักษาต้นข้าว และไร่ของชาวบ้านในบริเวณบนควนแห่งนี้
ต่อมาหุ่นนี้ได้กลายเป็นหุ่นศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านจึงเรียกว่า "ทวดลัง" (ตาลัง) เชื่อกันว่าทวดลังนี้จะปกป้องคุ้มครองชาวบ้าน ตำบลควนลัง และใกล้เคียง และเป็นที่เคารพกราบไหว้ของชาวควนลังถ้าใครบนบานท่าก็รับช่วยเหลือให้สมความปรารถนา ปัจจุบันนี้มีหลักทวดลังอยู่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และจัดงานสมโภชน์ทุกปี เพื่อเป็นศิริมงคลของชาวควนลัง ด้วยตำนานความ เป็นมานี้เอง เป็นที่มาของตำบลควนลัง