ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านภาวการณ์ทางสังคม เดือนตุลาคม 2561


5 พ.ย. 2561

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านภาวการณ์ทางสังคม เดือนตุลาคม 2561

 ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านภาวการณ์ทางสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางสังคม และการเปลี่ยนแปลงของความสุขโดยรวมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

003.jpg

ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านภาวการณ์ทางสังคม เดือนตุลาคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม ด้านภาวการณ์ทางสังคมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน

                                ดัชนีความเชื่อมั่นด้านภาวการณ์ทางสังคมที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ความสุขในการดำเนินชีวิต ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การแก้ปัญหายาเสพติด เสถียรภาพทางการเมือง และการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากความกังวลของประชาชนในการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งค่าครองชีพที่สูงขึ้นและรายได้ที่ลดลงในภาคการเกษตร รวมทั้งการตรวจพบและจับกุมยาเสพติดของตำรวจในหลายพื้นที่เป็นจำนวนมากในเดือนตุลาคม และเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการลอบยิงและวางระเบิดในหลายพื้นที่ ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งได้ลดความเชื่อมั่นและความสุขของประชาชนลงอีกด้วย

                                ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าความสุขในการดำเนินชีวิต และฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) ดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 28.70 และ 26.80 ตามลำดับ นอกจากนี้ การแก้ปัญหายาเสพติด และเสถียรภาพทางการเมืองดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 32.60 และ 40.20 โดยปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อความสุขในการดำเนินชีวิตในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 34.20 รองลงมา คือ ราคาสินค้า คิดเป็นร้อยละ 22.60