ประชารัฐที่ยิ่งกว่าประชานิยม ทุ่มงบซื้อใจรากหญ้าผ่านบัตรคนจน-ช่วยสวนยาง-ปาล์ม


21 พ.ย. 2561

สรุปมาตรการล่าสุดของคณะรัฐมนตรี ที่ช่วยเหลือผู้มีรายได้ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการช่วยเหลือชาวสวนยาง-สวนปาล์ม โดยการอนุมัติของ ครม. เมื่อ 20 พ.ย.61 พอสรุปได้ ดังนี้

91.jpg

มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย 
- ค่าใช้จ่ายปลายปี ให้เปล่าคนละ 500 บาท มีผู้ได้รับสิทธิ์ 14.5 ล้านคน งบประมาณ 7,250 ล้านบาท
- มาตรการบรรเทาค่าไฟฟ้าและน้ำประปา 10 เดือน ธ.ค.2561 - ก.ย.2562 ค่าไฟฟ้าไม่เกิน 230 บาท และค่าน้ำประปาไม่เกิน 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน งบประมาณ 27,060 ล้านบาท
- มาตรการเฉพาะผู้สูงอายุ แบ่งเป็น ค่าเดินทางรักษาพยาบาลและการดูแลสุขภาพสำหรับผู้อายุ 65 ปีขึ้นไป 1,000 บาท โดสามารถถอนเป็นเงินสดได้ ใช้งบประมาณ 3,500 บาท
- มาตรการช่วยเหลือค่าเช่าบ้านผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีรายได้น้อย 400 บาท/เดือน ระหว่าง ธ.ค.61- ก.ย.62 งบประมาณ 920 ล้านบาท
- มาตรการเฉพาะกลุ่ม คือการให้ส่วนลดวินจักรยานยนต์รับจ้าง เติมน้ำมัน 3 บาท/ลิตร คาดว่าจะเริ่ม 15 ธ.ค.61 งบประมาณ 600 ล้านบาท 

เมื่อรวมกับวงเงินช่วยเหลือเดิมทำให้สถานะของบัตรฯ ที่ให้วงเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและวัตถุดิบเพื่อการเกษตร 200-300 บาท/เดือน (ขึ้นกับรายได้ต่อปี) ,ส่วนลดค่าก๊าซ 45บาท/3 เดือน ค่าใช้จ่ายเดินทาง รถเมล์-รถไฟฟ้า 500 บาท/เดือน, ค่ารถ บขส. 500 บาท/เดือน, ค่ารถไฟ 500 บาท/เดือน งบประมาณรวม 41,940 ล้านบาท

- มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพเกษตรกรชาวสวนยางและคนกรีดยางภายใต้วงเงิน 18,604.95 ล้านบาท โดยช่วยเหลือเป็นเงิน 1,800 บาทต่อไร่ ไม่เกินรายละ 15 ไร่ ในจำนวนนี้ให้แบ่งจ่ายกับเจ้าของสวน 1,100 บาท คนกรีด 700 บาท

- มาตรการเร่งรัดการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบภายในวงเงิน 525 ล้านบาท มาเป็นค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มให้แก่กระทรวงพลังงาน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 160,000 ตัน ในราคา 18  บาท/กก. ในช่วงพ.ย.61-ก.พ. 62 จากพื้นที่แหล่งผลิตปาล์มที่สำคัญ เช่น กระบี่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร เพื่อนำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหลายๆ โครงการที่ออกมาในช่วงปลายรัฐบาลเท่านั้น