หัดคร่าชีวิตเด็กเล็กทุพโภชนาการ สคร.12 ย้ำโรคหัดป้องกันได้ด้วยวัคซีน


21 พ.ย. 2561

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ปลุกพลังประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ล่าง เฝ้าระวัง  โรคหัด ย้ำเกิดมากสุดในกลุ่มเด็กเล็ก ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ภาวะน้ำหนักน้อยกว่ามาตรฐาน และภาวะทุพโภชนา โรคหัดป้องกันได้ด้วยวัคซีนและเด็กเล็กต้องได้รับสารอาหารครบถ้วน

001.jpg

ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล  ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า รายงานสถานการณ์โรคหัดในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง (1 ม.ค.-17 พ.ย.61) พบจำนวนผู้ป่วย 2,560 ราย สูงสุดในจังหวัดยะลา 1,348 ราย รองลงมาปัตตานี 741 ราย สงขลา 238 ราย และนราธิวาส 173 ราย รายงานผู้เสียชีวิต 18 ราย จังหวัดยะลา 10 ราย ปัตตานี 7 ราย และสงขลา 1 ราย และจากข้อมูลจากการเฝ้าระวังโรคหัด ยังคงพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนสิงหาคม - 14 พฤศจิกายน 2561 มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นและมีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ใน 4 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ผู้ป่วยเสียชีวิต อยู่ในกลุ่มเด็กเล็กอายุระหว่าง 7 เดือน – 2 ปี 6 เดือน ส่วนใหญ่มีภาวะทุพโภชนาการ ทุกรายเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคหัดที่มีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ปอดอักเสบ และอุจจาระร่วง มีประวัติไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคและบางรายอายุยังไม่ครบเกณฑ์ที่จะได้รับวัคซีน

“โรคหัดมักเกิดกับเด็กเล็ก อายุเฉลี่ย 0-4 ปี เด็กที่เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเด็กเล็กที่มีน้ำหนักตัวน้อย มีภาวะขาดสารอาหารหรือภาวะทุพโภชนาการ ภูมิต้านทานต่ำ”

สคร.12 สงขลา ย้ำโรคหัดป้องกันได้ ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนที่มีบุตรหลานโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กแรกเกิด – 4 ปี ให้นำบุตรหลานไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน และครั้งที่ 2 เมื่อเด็กอายุ 2 ปีครึ่ง อีกทั้งเด็กเล็กต้องได้รับนมแม่ ซึ่งเป็นสารอาหารที่ดีที่สุด เนื่องจากผู้ป่วยโรคหัดจะมีภาวะขาดวิตามินเอ อาการจะรุนแรงและอาจทำให้ตาบอดได้ ดังนั้นต้องให้เด็กรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เช่น เนื้อสัตว์ต่างๆ ไข่แดง นม ผักและผลไม้ รวมทั้งอาหารที่มีวิตามินเอ แต่ละหมู่ให้หลากหลาย เป็นประจำทุกวัน ดร.นายแพทย์สุวิช กล่าวเพิ่มเติม

โรคหัด เป็นโรคไข้ออกผื่น เกิดจากเชื้อไวรัส Measles ซึ่งพบได้ในจมูกและลำคอของผู้ป่วย ติดต่อกันได้ง่ายมาก โดยการไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด เชื้อไวรัสจะกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย และเข้าสู่ร่างกายโดยทางการหายใจ บางครั้งเชื้ออยู่ในอากาศเมื่อหายใจเอาละอองที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเข้าไปก็ทำให้เป็นโรคได้ ถ้าไม่มีภูมิต้านทาน ทั้งนี้ หากมีไข้ มีผื่นแดง ไอมีน้ำมูก เยื่อบุตาแดง ตาแดง ตาแฉะ และกลัวแสง จุดขาวๆ เล็กๆ ที่กระพุ้งแก้ม ควรรีบพบแพทย์ทันที  

 สำหรับประชาชนที่มีบุตรหลาน ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโรคหัดให้มารับการฉีดวัคซีนโดยด่วน ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านฟรี และหากเด็กในปกครอง มีไข้ ไอ มีผื่นแดงและตาแดง ให้แยกเด็กออกไม่ให้สัมผัสกับเด็กอื่น เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ และในกรณีที่ในบ้านที่มีเด็กสัมผัสร่วมบ้านกับผู้ป่วย หากไม่ได้รับวัคซีนหรือฉีดวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ ให้ผู้ปกครองนำเด็กไปฉีดวัคซีนให้ครบ หรือในกรณีของเด็กนักเรียน หากมีอาการข้างต้นให้หยุดอยู่บ้าน เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์เช่นกัน หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคหัดสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422  

 

ข่าวโดย จีรภา รักแก้ว สคร.12สงขลา