ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจ เดือนพฤศจิกายน 2561


6 ธ.ค. 2561

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจ เดือนพฤศจิกายน 2561

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจ โดยเก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนภาคครัวเรือน ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

005.jpg

ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจ เดือนพฤศจิกายน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน โอกาสในการหางานทำ/ได้งานใหม่ รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว โดยมีปัจจัยบวกจากนโยบายของรัฐบาลที่ได้อนุมัติงบประมาณรวม 86,994 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย         มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ประมาณ 14.5 ล้านคน ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 38,730 ล้านบาท โดยให้เงินเป็นของขวัญปีใหม่คนละ 500 บาท ช่วยจ่ายค่านํ้า ค่าไฟ คนชราได้เงินเพิ่มค่าเดินทางไปหาหมอ 1,000 บาท ค่าเช่าบ้าน 400 บาทต่อเดือน มาตรการเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ 559 ล้านบาท และเงินบำเหน็จดำรงชีพ 24,700 ล้านบาท ซึ่งข้าราชการเกษียณที่รับเงินบำนาญต่ำกว่าเดือนละ 10,000 บาท ให้รับเต็ม 10,000 บาท และขยายเพดานของวงเงินบำเหน็จดำรงชีพให้แก่ผู้รับบำนาญที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปเพิ่มอีก 100,000 บาท รวมถึงกำหนดโครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร ชาวสวนยางพารา 18,604 ล้านบาท มาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์ม 525 ล้านบาท และ เงินชดเชยดอกเบี้ย 3,876 ล้านบาท โดยให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จัดทำโครงการบ้านล้านหลัง ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 36.20 และ 32.60 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 43.20 และ 36.20 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพคิดเป็นร้อยละ 25.20 รองลงมา คือ ราคาพืชผลทางการเกษตร และราคาสินค้า คิดเป็นร้อยละ 22.70 และ14.60 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ  ราคาพืชผลทางการเกษตร รองลงมา คือ ค่าครองชีพ ตามลำดับ