“บ้านสาครินทร์” สองศตวรรษ สถาปัตย์ล้ำค่าแห่งเมืองสองเล


31 มี.ค. 2559

“บ้านสาครินทร์” เลขที่ 98 ถนนนครใน บ้านในซอกเล็กๆ กลางเมืองสงขลา เป็นหนึ่งในอาคารเก่าแก่ที่ได้รับการพิจารณา จากการสำรวจอาคารเก่าแก่ชุมชนดั้งเดิมทั่วประเทศที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ของการเคหะแห่งชาติ  และได้เลือกให้อาคารย่านเมืองเก่าสงขลาเป็นโครงการนำร่อง และบ้าน “สาครินทร์” หลังนี้เป็นหลังแรกที่การเคหะฯ เทศบาลนครสงขลา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เห็นควรฟื้นฟูให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาและมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์หวงแหนสิ่งที่บรรพชนได้สั่งสมสร้างมาในอดีต

cats.jpg

บ้านโบราณอายุกว่า 150 ปีหลังนี้ เป็นบ้านของต้นตระกูลสาครินทร์  มรดกตกทอดมาจากบรรพชนสู่ทายาทในปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 6 ของตระกูล โดยมีน้าปราณี สาครินทร์  หญิงวัย 65 ปี สะใภ้ของตระกูลที่ยังคงอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้กับลูกชาย โดยคุณจิตติน สาครินทร์ ผู้เป็นสามีได้ล่วงลับลาจากไปเมื่อหลายปีก่อน ทิ้งบ้านอันทรงคุณค่านี้ไว้เป็นมรดก

น้าปราณี เล่าว่า ต้นตระกูลเดิมของ “สาครินทร์” นั้นตนเองไม่ทราบประวัติมากนัก หลังจากที่แต่งงานกับคุณกิตติน ในปี พ.ศ.2521 ก็เข้ามาอยู่ในบ้านหลังนี้  สามีเป็นลูกคนเดียวของปู่วิจิตร กับย่าปูเอี้ยน สาครินทร์ ส่วนประวัติของบุคคลอื่นๆ ก่อนหน้านี้ไม่รู้เลย และก็มีเพียงไม่กี่คนที่รู้ แต่ก็เสียชีวิตกันไปหมดแล้ว ประวัติของบ้านและบุคคลต้นตระกูลส่วนใหญ่จึงสูญหายไปกับบุคคลเหล่านั้น มีก็แต่ภาพถ่ายเก่าๆ ซึ่งไม่ทราบอีกว่าในรูปเป็นใครบ้าง

ครอบครัว “สาครินทร์” เป็นครอบครัวค้าขาย มีกิจการค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ใช้พื้นที่ด้านหน้าเป็นที่ขายของประเภทของที่ระลึก เครื่องจักสาน และอื่นๆ ต่อมาปี 2554 คุณกิตตินเสียชีวิต บรรยากาศค้าขายหน้าบ้านก็ค่อยๆ ซบเซาลงและเลิกลาไปในที่สุด บ้านที่เคยมีผู้คนมาแวะเวียนมาจับจ่ายซื้อของ พูดคุย ก็ปิดประตูใส่กุญแจ เจ้าของบ้านใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้าน ขลุกอยู่กับการทำขนมเล็กๆ น้อยๆ เพื่อหารายได้เลี้ยงดูกันเองสองแม่-ลูก  

10.jpg

 “ทุกวันตั้งแต่เช้าน้าก็ง่วนอยู่กับการตระเตรียมอะไรต่อมิอะไร เพื่อทำขนม อาทิ ข้าวต้มมัด พอสายหน่อยก็ให้ลูกชายคนเล็กเอาไปขายในตลาด มีรายได้จุนเจือครอบครัว ส่วนรายได้ทางอื่นไม่มี แต่เราก็อยู่ได้ตามอัตภาพ อยู่ให้พอดีก็ไม่เดือดร้อน”

แม้จะอาศัยอยู่ในอาคารที่ได้รับการยอมรับว่าทรงคุณค่ามาก แต่น้าปราณีกับลูกชายก็ไม่มีเวลาที่จะทำความสะอาด หรือดูแลมากนัก สภาพอาคารรวมถึงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ จึงทรุดโทรมไปตามกาลเวลา

“ก่อนนี้น้ากับลูกนอนอยู่ชั้นบน แต่เมื่อหลายปีก่อนน้าเกิดพลาดตกบันได ขาซ้ายบาดเจ็บทุกวันนี้เลยเดินเหินไม่สะดวก ตั้งแต่นั้นจึงพากันลงมานอนอยู่ชั้นล่าง ส่วนด้านบนน้าแทบจะไม่ได้ขึ้นไปเลย จะมีบ้างก็ลูกชายขึ้นไปบ้าง”

จากสภาพร่างกายที่ไม่ค่อยแข็งแรงนักของน้าปราณี ทำให้การทำหน้าที่ดูแลบ้านอย่างจริงๆ จังๆ นั้นแทบจะไม่มีเลย อีกทั้งในแต่ละวันน้าปราณีกับลูกชายต้องทุ่มเทเวลาไปกับทำขนมขาย  นานวันเข้าบ้านหลังนี้จึงอยู่ในสภาพทรุดโทรม แต่ก็ไม่เกินกว่าจะบูรณะให้กลับมามีสภาพใกล้เคียงกับของเดิมในอดีตได้

ดร.จเร สุวรรณชาต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย หนึ่งในผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการบูรณะ บอกถึงข้อมูลของบ้านสาครินทร์ว่า บ้านหลังนี้อายุไม่ต่ำกว่า 150 ปี เป็นบ้านสถาปัตยกรรมแบบจีนดั้งเดิม มีชายคาสั้น มีบ่อกลางบ้าน และมีความเชื่อแบบจีนดั้งเดิมที่มาพร้อมๆ กับเมืองสงขลา และที่สำคัญคือ ทุกส่วนของบ้านยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ต่างจากบ้านหลังอื่นในยุคเดียวกันที่มีการปรับปรุงให้เป็นร้านค้า ต่อเดิมเป็นห้องนอนติดแอร์ หรืออื่นๆ จนทำให้เสียรูปแบบเดิมไป

“ความโดดเด่นที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์คือ บ้านหลังนี้แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย ในอดีตเป็นอย่างไรทุกวันนี้ก็ยังเป็นแบบนั้น ซึ่งหายากมาก เมื่อเราเข้าไปในบ้านจะมีความรู้สึกย้อนยุค ยังมีกลิ่นอายของอดีต เป็นบ้านที่ยังมีชีวิต  ทรงคุณค่าและควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้”

บ้านสาครินทร์ เป็นอาคาร 2 ชั้น ครึ่งไม้ครึ่งปูน  ตัวบ้านปลูกติดกันกับบ้านหลังอื่นๆ คล้ายห้องแถว มองดูจากภายนอกแทบจะไม่ได้แตกต่างจากบ้านทั่วไป ในบ้านมีบันไดขึ้นด้านบนสองจุด คือ ช่วงกลางบ้านกับช่วงด้านหลัง โดยเฉพาะตอนหลัง บันไดทางเดินขึ้นไปชั้นสอง เป็นบันไดปูนแคบๆ ขึ้น-ลงสวนทางกันลำบาก และมีไม่กี่ขั้นแต่ละขั้นมีช่วงก้าวสูงกว่าบันไดปกติทั่วไป เมื่อขึ้นไปด้านบนจะพบห้องโถงว่า พื้นไม้ คาดว่าบริเวณนี้ในอดีตน่าจะเป็นห้องรับแขกหรือห้องนั่งเล่น ด้านซ้ายและขวาของห้องโถง จะมีประตูไม้แบบโบราณเหมือนกันทั้งสองฝั่ง ผลักเข้าไปก็จะพบห้องเล็กๆ ภายในมีข้าวของเครื่องใช้โบราณจัดวางอยู่มากมาย หลังคาแบบโล่ง ไม่มีฝ้าเพดาน มองเห็นไม้ระแนงใต้หลังคาได้อย่างชัดเจน ทุกอย่างของบ้านหลังนี้เก่าแก่ ดูน่าเกรงขามยิ่ง.  

11.jpg12.jpg13.jpg9.jpg8.jpg7.jpg6.jpg5.jpg4.jpg2.jpg3.jpg