หมดภาระหนี้เสีย ด้วยคลินิกแก้หนี้


14 มี.ค. 2562

หมดภาระหนี้เสีย ด้วยคลินิกแก้หนี้

หนี้ครัวเรือนของคนไทยที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศและชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหานี้ จึงได้ร่วมมือกันจัดตั้ง “โครงการคลินิกแก้หนี้” ขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2560 เพื่อแก้ไขหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันที่เป็นหนี้ค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน (NPL) กับธนาคารตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไป โดยแต่งตั้งให้บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางแทนเจ้าหนี้ที่เข้าร่วมโครงการเพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้จากแต่ละแห่งให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและสอดคล้องกับความสามารถในการผ่อนชำระที่แท้จริงของลูกหนี้

คลินิกแก้หนี้เรียกได้ว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน วัตถุประสงค์ (1) เพื่อช่วยเหลือประชาชนในฐานะลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายรายให้สามารถปลดหนี้ได้ ซึ่งนับเป็นเรื่องยากสำหรับลูกหนี้ที่จะดำเนินการด้วยตนเอง เนื่องจากเจ้าหนี้แต่ละรายอาจมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่แตกต่างกัน (2) เพื่อให้ความรู้และสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ลูกหนี้ขณะเข้าโครงการ เพิ่มภูมิคุ้มกันทางการเงิน ไม่ให้กลับเข้ามาสู่วังวนการเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวอีก

เพื่อให้การดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพ และช่วยเหลือประชาชนได้ในวงกว้าง จึงได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ ทั้งในด้านการสมัคร การพิจารณารายได้และความสามารถชำระหนี้ ให้มีความยืดหยุ่น เปิดกว้าง เพิ่มโอกาสให้แก่ประชาชนชน รวมถึงสอดคล้องกับสถานะลูกหนี้แต่ละรายมากขึ้น โดยหลักเกณฑ์ใหม่มีผลตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 สรุปเป็นรายละเอียดได้ ดังนี้

คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ

1. บุคคลธรรมดาที่มีรายได้และอายุไม่เกิน 65 ปี

2. มีหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือ สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันค้างเกินกว่า

3 เดือน กับธนาคาร ตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไป ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2562

3. ยอดหนี้เงินต้นค้างชำระรวมไม่เกิน 2 ล้านบาท

4. ไม่ถูกดำเนินคดี หรือถูกดำเนินคดีแล้วแต่ยังไม่มีคำพิพากษา

รวมถึงมีเงื่อนไขสำคัญในการเข้าร่วมโครงการ คือลูกหนี้ต้องไม่ก่อหนี้เพิ่มในระยะเวลา 5 ปี และพร้อมเรียนรู้การสร้างวินัยทางการเงินที่ดี

นอกจากนี้เพื่อให้การแก้หนี้เป็นไปอย่างเบ็ดเสร็จมากขึ้น จึงได้เพิ่มจำนวนเจ้าหนี้ให้รวมผู้ประกอบการ Non-bank อีกจำนวน 8 ราย เนื่องจากหนี้ส่วนนี้มีสัดส่วนจำนวนลูกหนี้กว่า 70% ของทั้งหมด ซึ่งจากเดิมที่ต้องเป็นหนี้เฉพาะของธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการ 16 แห่ง1

รายชื่อ Non-bank ที่เข้าร่วมโครงการได้แก่

1. บริษัท เจเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด

2. บริษัท ซิตี้คอร์ป ลิสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด

3. บริษัท เทสโก้ คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด

4. บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด

5. บริษัท พรอมิส (ประเทศไทย) จำกัด

6. บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด

7. บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)

8. บริษัท อีซี่ บาย จำกัด (มหาชน)

โดยคาดว่าลูกหนี้ของ Non-bank ทั้ง 8 ราย จะสามารถเข้าร่วมโครงการได้ภายในไตรมาส 2 ของปี 2562 เนื่องจากปัจจุบันอยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายเพิ่มบทบาทให้ SAM ซึ่งทำหน้าที่แทนเจ้าหนี้ สามารถบริหารหนี้ NPL ของ Non-bank ได้ และเมื่อกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จะส่งผลให้ลูกหนี้ที่มีหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือ สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันค้างเกินกว่า 3 เดือน กับเจ้าหนี้ที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไป ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2562 สามารถเข้าร่วมได้

ธนาคารพาณิชย์ 16 แห่งได้แก่ ธ.กรุงเทพ ธ.กรุงไทย ธ.กรุงศรีอยุธยา ธ.กสิกรไทย ธ.เกียรตินาคิน ธ.ซิตี้แบงก์สาขากรุงเทพฯ ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย ธ.ทหารไทย ธ.ทิสโก้ ธ.ไทยเครดิตเพื่อรายย่อย ธ.ไทยพาณิชย์ ธ.ธนชาต ธ.ยูโอบี ธ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ธ.แห่งประเทศจีน (ไทย) และธ.ไอซีบีซี (ไทย)

อีกทั้ง SAM ยังได้ร่วมมือกับ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) ในการ (1) ลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ลูกหนี้ โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจสอบข้อมูลเครดิต (ประมาณ 100 บาท) ให้แก่ลูกหนี้ที่มาติดต่อและลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านช่องทางสำนักงานของ SAM (2) ลดระยะเวลากระบวนการพิจารณาอนุมัติ โดยปรับปรุงการตรวจสอบและการส่งข้อมูล NCB ให้รวดเร็วขึ้น เพื่อที่จะได้เริ่มกระบวนการพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้ได้เร็วขึ้น

เรียกได้ว่า คลินิกแก้หนี้ เป็นการให้บริการแก้หนี้อย่างครบวงจร ซึ่งลูกหนี้จะได้รับประโยชน์สำคัญคือ การรวมหนี้จากเจ้าหนี้หลายรายให้กลายเป็นหนี้ก้อนเดียว ได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่ถูกลง 4% - 7% ตามช่วงรายได้ และมีระยะเวลาผ่อนชำระหนี้สูงสุดถึง 10 ปี ซึ่งจะช่วยลดยอดการผ่อนชำระต่อเดือนให้อยู่ในระดับที่ลูกหนี้สามารถจัดการได้ (ปัจจุบันเพดานอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิตอยู่ที่ 18% ต่อปี และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันอยู่ที่ 28% ต่อปี) รวมถึงไม่มีค่าสมัครหรือค่าใช้จ่ายใดๆ สำหรับการเข้าโครงการ อีกทั้งยังได้รับความรู้ด้านการบริหารจัดการเงิน ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้ลูกหนี้ต่อยอดสร้างความมั่นคงทางการเงินได้

ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.debtclinicbysam.com หรือสอบถามผ่าน Call Center ของ SAM โทร 0 2610 2266 ปัจจุบัน SAM มีทั้งหมด 5 สาขา ได้แก่ สำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพมหานคร สาขาเชียงใหม่ สาขาพิษณุโลก สาขาขอนแก่น และสาขาสุราษฎร์ธานี (โทร 0 7791 0180-3)


ผู้จัดทำ : ญาณิศรา ศตะรัต ผู้วิเคราะห์อาวุโส ส่วนคุ้มครองและให้ความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย