​ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนพฤษภาคม 2562


4 มิ.ย. 2562

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง



ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมปรับตัวลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน โดยดัชนีที่มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) โดยปัจจัยลบส่วนหนึ่งมาจากการเปิดเทอมใหม่ปีการศึกษา 2562 ของนักเรียน นักศึกษา ที่เพิ่มค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ ทั้งอุปกรณ์การเรียน เสื้อผ้า และค่าเทอม ทั้งนี้ผู้ปกครองจำเป็นต้องวางแผนและควบคุมการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ผู้ที่ทำการค้าขายนำเข้าและส่งออกต่าง ๆ ยังมีความกังวลในการค้าขายและการลงทุนที่ยังไม่มีความแน่นอน เนื่องจากสถานการณ์กีดกันทางการค้ารอบใหม่ของสหรัฐอเมริกาและจีนที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการบริโภคสินค้า มือถือและสินค้าอื่น ๆ จากประเทศจีน อีกทั้งประชาชนและนักลงทุนต่าง ๆ ยังมีความกังวลต่อการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ว่าพรรคการเมืองใดจะเข้ามาบริหารประเทศและใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป รัฐบาลจะมีเสถียรภาพหรือไม่ โฉมหน้ารัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่มีใครบ้าง และทีมเศรษฐกิจจะกำหนดนโยบายในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจภาคใต้อย่างไร นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนเกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ลดลงเช่นกัน เป็นเพราะเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายในหลายพื้นที่ โดยผู้ก่อการร้ายมักมุ่งก่อเหตุในพื้นที่สาธารณะ สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในหลายพื้นที่ โดยในวันพฤหัสที่ 27 – 28 พฤษภาคม ที่ผ่านมาได้มีการก่อเหตุลอบวางระเบิดบริเวณหลังสถานีรถไฟจะนะ จ.สงขลา และตลาดสดบ่อทอง จ.ปัตตานี

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว เนื่องจากครอบครัวที่มีบุตรกำลังศึกษาอยู่จำเป็นต้องซื้อสิ่งของที่จำเป็นเพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนใหม่ ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชน ด้านความสุขในการดำเนินชีวิตเพิ่มขึ้น ปัจจัยบวกส่วนหนึ่งมาจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในวันที่ 4-6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 สร้างความปลื้มปิติยินดีให้กับประชาชนในภาคใต้

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 30.10 และ 34.20 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 23.40 และ 28.80 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 24.20 , 35.80 และ 37.40 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 27.30 รองลงมา คือ ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ และราคาสินค้าสูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 24.10 และ 15.80 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ ราคาพืชผลทางการเกษตร ตามลำดับ