การเงินน่ารู้กับ ธปท.ใต้ ตอน การกู้ยืมเงินรูปแบบใหม่ P2P Lending กู้ยืมระหว่างบุคคล ผ่านplatform


18 มิ.ย. 2562

การกู้ยืมเงินรูปแบบใหม่ P2P Lending

ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในภาคการเงินทั้งแก่ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการเป็นอย่างมาก จะเห็นได้ว่าผู้ให้บริการมีการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาช่องทางการเข้าถึงบริการ และผลิตภัณฑ์ทางการเงิน รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ใช้บริการเพื่อที่จะนำเสนอบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้นและตรงกับความต้องการมากที่สุด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการที่ผู้ให้บริการต่างพัฒนา Mobile Application ของตนเอง ให้มีความสะดวก ง่ายต่อการใช้งาน และเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย อาทิ การให้บริการด้านบัตรเครดิต ด้านกองทุน หรือด้านสินเชื่อออนไลน์ สำหรับผู้ใช้บริการก็หันมาเลือกใช้บริการทางการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะ Mobile Bankingและ Internet Banking เพิ่มมากขึ้น

เรียกได้ว่าการเติบโตทางเทคโนโลยีทางการเงินเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ รวมถึงเพิ่มจำนวนผู้ให้บริการทางการเงินรายใหม่ในตลาด สำหรับด้านการปล่อยสินเชื่อ ได้มีบริการทางการเงินใหม่ที่จะลดบทบาทสถาบันการเงินหรือตัวกลางทางการเงินในปัจจุบันได้ นั่นคือ การให้กู้เงินออนไลน์ หรือ Peer to Peer Lending (P2P Lending)

P2P Lending เป็นการให้กู้ยืมระหว่างบุคคลกับบุคคลออนไลน์ โดยมี platform เป็นตัวกลางในการจับคู่ระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ รวมถึงดำเนินการด้านสัญญาสินเชื่อ หรือเรียกได้ว่าเป็นการเชื่อมผู้ที่ต้องการกู้เงินและผู้ที่มีเงินเหลือที่ต้องการหาผลตอบแทนจากการลงทุนให้มาเจอกัน โดยกระบวนการคือผู้กู้จะต้องกรอกข้อมูลต่างๆเพื่อการขอสินเชื่อผ่าน platform โดย platform จะทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลเครดิตผู้กู้ และวิเคราะห์ความเหมาะสมของผู้ให้กู้หรือนักลงทุน จากนั้นจะนำเสนอข้อมูลของผู้กู้ให้นักลงทุนตัดสินใจพิจารณาให้สินเชื่อ ทั้งนี้ เงินของนักลงทุนจะถูกเก็บไว้ที่ตัวกลางผู้รักษาเงิน เช่น ธนาคารพาณิชย์ และเมื่อการลงนามในสัญญากู้เงินเสร็จสิ้น เงินจะถูกโอนเข้าบัญชีผู้กู้ ซึ่งผู้กู้มีหน้าที่ต้องชำระหนี้คืนตามสัญญา สำหรับผู้ให้กู้ก็จะได้รับผลตอบแทนจากการปล่อยกู้เช่นกัน

ภายในกรอบการกำกับดูแลของ ธปท. ผู้ที่สามารถกู้เงินจาก P2P Lending ได้ คือบุคคลธรรมดาที่มีวัตถุประสงค์ในการกู้เงินเพื่อ (1) อุปโภคและบริโภค โดยสามารถขอกู้วงเงินสูงสุดไม่เกิน 1.5 – 5 เท่าของรายได้ ขึ้นอยู่กับรายได้หรือกระแสเงินสดหมุนเวียนในบัญชีเงินฝากของผู้กู้ หรือ (2) ประกอบธุรกิจ ทั้งที่มีหลักประกัน และไม่มีหลักประกันสำหรับการขอสินเชื่อ โดยสามารถขอกู้วงเงินสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท สำหรับผู้ให้กู้สามารถเป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ซึ่งหากเป็นบุคคลธรรมดาหรือนักลงทุนรายย่อย สามารถปล่อยกู้ให้ผู้กู้ทุกรายรวมกันสูงสุดไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี และหากเป็นผู้ลงทุนสถาบัน กิจการร่วมลงทุนหรือนิติบุคคลร่วมลงทุน สามารถปล่อยกู้ได้ไม่จำกัดวงเงิน

ประโยชน์สำคัญของ P2P Lending สำหรับผู้กู้คือเป็นการเพิ่มทางเลือกใหม่ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่ประชาชนหรือผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยที่ไม่สามารถเข้าถึงการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้ นอกจากนี้การเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านช่องทางออนไลน์จะเพิ่มความสะดวกและความคล่องตัวในการทำธุรกรรม ลดต้นทุนดำเนินการของตัวกลางทางการเงิน ส่งผลให้ผู้กู้ได้รับต้นทุนทางการเงินหรือดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถูกลง โดยมีเพดานดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกินอัตรา 15% ต่อปี (ปัจจุบันสินเชื่อส่วนบุคคลแบบไม่มีหลักประกันอัตราดอกเบี้ยสูงสุดอยู่ที่ 28% ต่อปี) อย่างไรก็ดี อาจมีค่าธรรมเนียมอื่นที่ผู้กู้ต้องจ่ายให้แก่ platform ซึ่งผู้กู้จะต้องศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขให้ครบถ้วนก่อนการตัดสินใจกู้เงิน สำหรับผู้ให้กู้ P2P Lending นับเป็นการเพิ่มช่องทางในการลงทุนและได้รับผลตอบแทนตามระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนยอมรับได้

อย่างไรก็ดี แม้จะมีช่องทางการให้บริการหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่เกิดขึ้น การจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนเหล่านั้น ปัจจัยสำคัญโดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย คือการเร่งปรับตัวด้านการจัดทำบัญชีของธุรกิจ ด้านการเดินบัญชีกับสถาบันการเงิน ด้านการจัดทำแผนธุรกิจ และด้านการสร้างวินัยทางการเงิน เช่น การชำระหนี้ให้ตรงเวลา และการใช้เงินให้ตรงตามวัตถุประสงค์การกู้ยืม เพื่อเป็นการสร้างเครดิตให้แก่ผู้กู้ ให้ผู้ให้บริการเกิดความมั่นใจในด้านความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้

ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการ P2P Lending ควรพิจารณาความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้บริการ สำหรับผู้กู้ การเพิ่มช่องทางใหม่ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน อาจทำให้เกิดการก่อหนี้เกินตัว สำหรับผู้ให้กู้ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของผู้กู้ซึ่งจะทำให้ผู้ให้กู้ไม่ได้รับชำระหนี้หรือดอกเบี้ยคืนตามสัญญา หรือความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของผู้ให้กู้เองเนื่องจากผู้ให้กู้อาจไม่สามารถยกเลิกการให้สินเชื่อหรือเรียกให้ผู้กู้ชำระหนี้คืนก่อนกำหนดได้ ดังนั้นนอกเหนือจากการพิจารณาข้อมูลเครดิตของผู้กู้แล้ว สิ่งสำคัญคือผู้ให้กู้ต้องศึกษาข้อมูลความเสี่ยงของสินเชื่อที่ตนเองจะปล่อยกู้ร่วมด้วย นอกจากนี้ ยังอาจเกิดโอกาสที่ผู้ให้กู้จะถูก platform หรือผู้กู้หลอกลวงได้ เนื่องจากเป็นการให้กู้โดยที่ทั้งผู้ให้กู้และผู้กู้ไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน

ปัจจุบัน ธปท. เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจจะประกอบธุรกิจเป็น platform เข้าทดสอบการให้บริการภายในขอบเขตที่จำกัดกับ ธปท. ก่อนการยื่นขออนุญาต เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ให้บริการ platform จะมีความมั่นคง ความโปร่งใสและความเหมาะสมในการดำเนินงาน ก่อนจะออกให้บริการแก่ประชาชนในวงกว้าง

ที่มา:P2P Lending (peer-to-peer lending) สินเชื่อออนไลน์ระหว่างบุคคลรูปแบบใหม่

https://www.bot.or.th/Thai/ConsumerInfo/Documents/...

ผู้จัดทำ : ญาณิศรา ศตะรัต

ผู้วิเคราะห์อาวุโส ส่วนคุ้มครองและให้ความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย