​ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนมิถุนายน 2562


1 ก.ค. 2562

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

ผศ.ดร.วิวัฒน์จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม โดยดัชนีที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน(รายได้หักรายจ่าย) การแก้ปัญหายาเสพติด และการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยปัจจัยบวกส่วนหนึ่งมาจากรายได้ภาคเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา ทั้งราคายางพาราและราคาปาล์มน้ำมัน ส่งผลเชิงบวกต่อรายได้ของเกษตรกรในภาคใต้ ทำให้ฐานะการเงินดีขึ้น มีความสุขเพิ่มขึ้น ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นที่ลดลง ได้แก่ รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้ารายจ่ายด้านการท่องเที่ยวความปลอดภัยในทรัพย์สิน และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยสาเหตุของความเชื่อมั่นด้านการแก้ปัญหาเศรษฐกิจลดลง เป็นเพราะประชาชนในภาคใต้ยังมีความกังวลเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มีเสียงข้างมากแบบปริ่มน้ำ ขาดเสถียรภาพ ทำให้รัฐบาลอาจอยู่ได้ไม่นาน และเมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่เขามา ทิศทางของนโยบายก็อาจเปลี่ยนไป นอกจากนี้ประชาชนยังรอความชัดเจนของตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ โดยเฉพาะกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานด้านเศรษฐกิจเนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลผสม 20 พรรค ทำให้เกิดการต่อรองตำแหน่งต่าง ๆ ตามสัดส่วนโควตาของแต่ละพรรคจึงทำให้ประชาชนในภาคใต้ไม่มั่นใจเกี่ยวกับคุณสมบัติของรัฐมนตรีที่จะมารับตำแหน่ง ว่าจะมีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาประชาชนในภาคใต้ได้รับความเดือดร้อนมาก รอคอยและคาดหวังว่าจะผู้บริหารเศรษฐกิจแบบมืออาชีพจะเข้ามาช่วยกำหนดนโยบายหรือมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภาคใต้ได้อย่างถูกต้องและเร่งด่วน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรอย่างจริงจังและยั่งยืน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อเศรษฐกิจในภาคใต้ในระยะยาว

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 30.10 และ 34.20 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 23.40 และ 23.10 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 45.50 , 26.40 และ 43.30 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 25.60 รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูงขึ้น และราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ คิดเป็นร้อยละ 22.40 และ 16.40 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ สินค้าราคาสูง ตามลำดับ