การเงินน่ารู้กับ ธปท.ใต้ ตอน สลากออมทรัพย์ ลุ้นอย่างไรให้ตอบโจทย์


1 ส.ค. 2562

สลากออมทรัพย์ ลุ้นอย่างไรให้ตอบโจทย์

  • เงินที่ซื้อสลากควรเป็นเงินสำหรับการเก็บออม เพราะหากถอนคืนก่อนกำหนดจะได้รับดอกเบี้ยลดลง
  • สลากออมทรัพย์สามารถใช้เป็นหลักประกันการกู้เงิน ณ สาขาธนาคารที่เปิดบัญชีซื้อสลาก
  • ถ้าต้องการถูกรางวัลเลขท้ายทุกงวด ต้องซื้อสลากแบบเรียงตัวเลขด้วยเงินจำนวนขั้นต่ำ 1-5 แสนบาท

หากพูดถึงวันที่ 1 และวันที่ 16 ของทุกเดือน ผู้ที่เป็นนักลุ้นคงเดาได้ไม่ยากว่าเป็นวันออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล แม้โอกาสถูกรางวัลมีน้อยแต่หลายคนก็ขอลุ้นเผื่อวันหนึ่งดวงดีมีโอกาสพลิกชีวิตกับเขาบ้าง เราเคยถามตัวเองไหมครับว่า เงินที่ใช้ไปกับการลุ้นโชคเหล่านี้รวมๆแล้วคิดเป็นจำนวนเท่าไหร่ แล้วถ้าเปลี่ยนเป็นซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เอาใจคนชอบลุ้นอย่างสลากออมทรัพย์จะดีกว่าไหมครับ ก้าวทันผลิตภัณฑ์ทางการเงินฉบับนี้จึงชวนท่านผู้อ่านมารู้จักสลากออมทรัพย์ พร้อมคำแนะนำในการซื้อสลากออมทรัพย์อย่างไรให้ตอบโจทย์

การออมที่ไม่ปิดโอกาสคนดวงดี สลากออมทรัพย์เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินในรูปแบบของการออม ที่นอกจากได้รับดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนดไถ่ถอนแล้ว ยังสามารถลุ้นการถูกรางวัลในแต่ละงวดได้ด้วย แม้ไม่ถูกรางวัลเงินต้นก็ไม่ได้สูญ ต่างจากสลากกินแบ่งรัฐบาลที่เมื่อไม่ถูกรางวัลเงินที่ซื้อสลากก็จะสูญไปหรือที่เขาเรียกว่า“ถูกกิน” นั่นเองครับ ปัจจุบันธนาคารที่ออกจำหน่ายสลากออมทรัพย์ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยมีข้อควรพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อ ดังนี้

อายุสลากตรงกับความต้องการใช้เงิน เมื่อซื้อสลากแล้วต้องถือไว้เป็นระยะเวลาหนึ่งตามเงื่อนไข เงินที่ใช้ซื้อสลากควรเป็นเงินสำหรับการเก็บออม เพราะหากถอนคืนก่อนกำหนดจะทำให้ได้รับดอกเบี้ยลดลง และหากถอนคืนก่อนครบ 3 เดือนแรกจะถูกคิดค่าธรรมเนียมการถอนก่อนครบกำหนด ทำให้ได้รับเงินคืนน้อยกว่าจำนวนที่ซื้อ

ใช้เป็นหลักประกันการกู้เงินได้ ธนาคารบางแห่งสามารถใช้สลากออมทรัพย์เป็นหลักประกันการกู้เงิน ซึ่งมีเงื่อนไขที่ควรทราบ เช่น กู้ได้ร้อยละ 90-95 ของมูลค่าสลาก ระยะเวลาส่งชำระหนี้ไม่เกิน 10 ปี และต้องขอสินเชื่อกับสาขาที่เปิดบัญชีสลาก เป็นต้น ทั้งนี้ สลากดิจิทัลที่ซื้อผ่าน Mobile Banking ของธนาคารบางแห่ง ไม่สามารถใช้เป็นหลักประกันได้ แต่มีข้อดีตรงที่ได้รับดอกเบี้ยมากกว่าสลากที่เป็นใบตราสาร

ถูกรางวัลทุกงวด เริ่มต้นที่ทุนหลักแสน เมื่อซื้อสลากด้วยเงินก้อนที่มากพอหรือที่เรียกว่า “ซื้อคลุมเลข” จะทำให้มีโอกาสถูกรางวัลทุกงวด ยกตัวอย่าง สลากออมทรัพย์ ธ.ก.ส. แบบ 3 ปี หากต้องการถูกรางวัลเลขท้าย 3 ตัวทุกงวด (มี 2 รางวัล รางวัลละ 45 บาท รวมเป็น 90 บาทต่องวด) จะต้องซื้อด้วยเงินก้อนจำนวน 100,000 บาท ซึ่งเมื่อครบ 3 ปี ก็จะได้รับเงินรางวัลรวม 3,240 บาท (90 บาท x 36 เดือน) หรืออีกหนึ่งตัวอย่าง สลากออมสิน แบบ 3 ปี หากต้องการถูกรางวัลเลขท้าย 4 ตัวทุกงวด (มี 2 รางวัล รางวัลละ 150 บาท รวมเป็น 300 บาทต่องวด) จะต้องซื้อด้วยเงินก้อนจำนวน 500,000 บาท ซึ่งเมื่อครบ 3 ปี ก็จะได้รับเงินรางวัลรวม 10,800 บาท (300 บาท x 36 เดือน) ทั้ง 2 ตัวอย่างนี้เป็นแค่รางวัลขั้นต่ำ หากคุณดวงดีก็มีโอกาสถูกรางวัลที่มากกว่าเลขท้าย แต่จะเป็นจำนวนเท่าไหร่นั้น ก็แล้วแต่บุญพาวาสนาส่งที่คุณมีเลยทีเดียว

มองให้ลึกมากกว่าผลตอบแทน จากตัวอย่างข้างต้น เมื่อรวมดอกเบี้ยและเงินรางวัลขั้นต่ำเปรียบเทียบกับผลตอบแทนเงินฝากประจำ อาจมองว่าสลากออมทรัพย์ได้ผลตอบแทนน้อยกว่า แต่ด้วยสลากออมทรัพย์เปิดโอกาสให้ลุ้นรางวัลได้ คุณก็อาจได้รับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น สลากออมทรัพย์จึงเป็นทางเลือกสำหรับคนรักการออมแต่ชอบความตื่นเต้น เพราะได้ลุ้นรางวัลในทุกๆเดือนนั่นเอง

การลงทุนในสลากออมทรัพย์ถือเป็นการออมที่งอกเงยเพราะไม่เสี่ยงและได้เงินคืน ถึงแม้คุณไม่ได้มีเงินเก็บหลักแสนเพื่อซื้อสลากชุดใหญ่ แต่หากเปลี่ยนพฤติกรรมจากการซื้อลอตเตอรี่-หวยใต้ดิน มาซื้อสลากออมทรัพย์แทน ก็ถือเป็นการเปลี่ยนชีวิตที่ไม่ต้องอาศัยโชคชะตาแต่อย่างใด และต้องทำความเข้าใจเงื่อนไขก่อนตัดสินใจซื้อ ซึ่งทำให้สลากออมทรัพย์ที่คุณเลือกสามารถตอบโจทย์ได้อย่างแท้จริง


ที่มา :ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.)

https://www.1213.or.th/th/serviceunderbot/savings/...

สุรเชษฐ์ ศรีภูริรักษ์

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย