สคร.12 สงขลา เตือน ระวังการทำงานในที่อับอากาศ เสี่ยงอันตรายสูง


17 ส.ค. 2562

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เตือน ประชาชนระวังการทำงานในที่อับอากาศ เสี่ยงอันตรายสูง ที่ไม่ควรมองข้าม จากการเฝ้าระวังการบาดเจ็บและการเสียชีวิต ในที่อับอากาศของประเทศไทย โดยกรมควบคุมโรค พบว่าทุกครั้งของการเกิดเหตุการณ์ในสถานที่อับอากาศ มักจะมีผู้เสียชีวิตเกือบทุกครั้ง มากกว่าร้อยละ 50 ของผู้เสียชีวิตเป็นผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บรายแรกโดยขาดความรู้

ที่อับอากาศคืออะไร ?

ที่อับอากาศ หมายถึง ที่ซึ่งมีทางเข้าออกจำกัด และมีการระบายอากาศไม่เพียงพอที่จะทำให้อากาศภายในอยู่ในสภาพถูกสุขลักษณะ เช่น อุโมงค์ ถ้ำ บ่อ หลุม ห้องใต้ดิน ห้องนิรภัย ถังน้ำมัน ถังหมัก ไซโล ท่อ เตา หรือภาชนะอื่นๆที่มีลักษณะคล้ายกัน ส่วนบรรยากาศอันตราย คือ มีออกซิเจนน้อยไป ( น้อยกว่า 19.5% ) มีออกซิเจนมากไป ( มากกว่า 23.5% )

มีก๊าซติดไฟหรือระเบิดได้ ความเข้มข้นพอที่จะติดไฟได้ มีฝุ่นติดไฟ ความเข้มข้นพอที่จะระเบิดได้ มีสารเคมีอันตราย

นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า การเสียชีวิตในที่อับอากาศที่พบในประเทศส่วนใหญ่มาจาก 2 สาเหตุ คือ 1. ขาดอากาศหายใจ พบประมาณร้อยละ 60 ซึ่งบริเวณบ่อ หลุมที่มีความลึกหรือท่อมักจะมีออกซิเจนน้อย หากต่ำกว่าร้อยละ 19.5 จะเป็นอันตรายถึงชีวิต และ 2. จากการสูดก๊าซพิษเข้าไปที่พบบ่อย 3 ชนิด คือ ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือก๊าซไข่เน่า ก๊าซมีเทน และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ที่อันตรายมากคือก๊าซไข่เน่าเกิดจากการย่อยสลายของสารอินทรีย์ ที่มีธาตุกำมะถันเป็นองค์ประกอบ เช่น มูลสัตว์ ขยะ ของเสีย ซากสิ่งมีชีวิต รวมทั้งการเน่าเสียของน้ำเสีย ลักษณะเบื้องต้นที่พอจะสังเกตได้ว่าในที่นั้นมีก๊าซไข่เน่าอยู่ ก็คือมีกลิ่นเหม็นเหมือนไข่เน่า แหล่งที่พบบ่อยคือในบ่อบำบัดน้ำเสีย ท่อระบายน้ำ บ่อปุ๋ยหมักที่ทำจากมูลสัตว์ บ่อเกรอะ ก๊าซ ชนิดนี้หากมีความเข้มข้นสูงถึง 100 ppm เมื่อสูดเข้าไปจะทำให้หยุดหายใจ เสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว

สำหรับผู้ประกอบการหรือโรงงาน จำเป็นต้องมีมาตรการความปลอดภัย ก่อนจะลงไปทำงานในที่อับอากาศจะต้องใช้เครื่องมือตรวจวัดปริมาณออกซิเจน สารเคมีอันตราย หรือก๊าซพิษก่อน และจัดเตรียมอุปกรณ์ความปลอดภัยสำหรับผู้ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะถังบรรจุออกซิเจนและหน้ากาก ที่สำคัญต้องมีผู้ช่วยเหลืออยู่ที่ปากบ่อหรือปากทางอย่างน้อย 1 คน และผู้ควบคุมการทำงาน 1 คน ทั้งหมดจะต้องผ่านการฝึกอบรมทั้งการกู้ภัยและการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเป็นอย่างดี และควรผูกเชือกที่เอวของผู้ปฏิบัติงานไว้เพื่อให้ผู้ที่อยู่ปากบ่อรู้การเคลื่อนไหวตลอดเวลา หากเห็นว่ามีอาการหรือท่าทางผิดปกติ ต้องรีบนำตัวออกมาทันที

กรณีที่เป็นประชาชน หากไม่มีเครื่องมือที่กล่าวมาให้ใช้วิธีการสังเกต หากเป็นบ่อน้ำให้ดูสีและกลิ่น น้ำมักจะมีสีดำเข้ม หากได้กลิ่นเหม็นรุนแรงเหมือนไข่เน่า ห้ามลงไปเด็ดขาด และหากเป็นบ่อน้ำร้างมีเศษขยะ ซากพืช ซากสัตว์จนน้ำมีสีดำเข้ม ก็ไม่ควรลงไปเช่นกัน ประการสำคัญห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่อับอากาศ โดยเฉพาะบริเวณบ่อน้ำ ท่อน้ำที่เน่าเสียมากอาจทำให้เกิดการระเบิดได้ เนื่องจากอาจมีก๊าซมีเทน หรือก๊าซไวไฟอื่นๆ

สำหรับการช่วยเหลือผู้ได้รับอันตรายจากการทำงานในที่อับอากาศ ให้ใช้การดึงเชือกขึ้นมาแทนการลงไป หากลงไปช่วยจะต้องมีอุปกรณ์ป้องกันตัวเองอย่างดี เช่น สวมอุปกรณ์ป้องกันก๊าซพิษ หลังจากนั้นให้การ ปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยให้นอนราบในที่อากาศถ่ายเทดี หากพบว่าไม่หายใจและหัวใจหยุดเต้น ให้ผายปอด และนวดหัวใจ และรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด หรือโทรแจ้ง 1669. ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422