​สธ.สงขลา เน้นย้ำ 3 เก็บ เร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเพื่อป้องกัน 3 โรคอันตราย


23 ส.ค. 2562

สธ.สงขลา เน้นย้ำ 3 เก็บ เร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเพื่อป้องกัน 3 โรค ขณะที่พบผู้ป่วยสูงสุดในพื้นที่อำเภอคลองหอยโข่ง นาหม่อม และสะเดา

นายแพทย์อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ในช่วงนี้พื้นที่ภาคใต้และจังหวัดสงขลาเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้ยุงลายมีโอกาสแพร่ขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นและเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อ ไวรัสซิกา และไข้ปวดข้อยุงลายมากขึ้น ซึ่งในแต่ละปีมีผู้ป่วยเสียชีวิต และในทุกสถานที่ยังพบแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของประเทศไทย (ณ วันที่ 14 สิงหาคม 2562) พบผู้ป่วยไข้เลือดออก จำนวนทั้งสิ้น 69,055 ราย อัตราป่วย 104.53 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 75 ราย (อัตราป่วยตายร้อยละ 0.11) สำหรับ จ.สงขลา (ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2562) มีผู้ป่วยไข้เลือดออกจำนวนทั้งสิ้น 1,681 ราย อัตราป่วย 119.31 ต่อประชากรแสนคน ผู้ป่วยเสียชีวิต 1 ราย (อัตราป่วยตายร้อยละ 0.06 ) พบผู้ป่วยส่วนใหญ่ในกลุ่มอายุ 10 – 14 ปี รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 5 - 9 ปี และกลุ่มอายุ 15 – 19 ปีตามลำดับ อำเภอที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุดคือ อำเภอคลองหอยโข่ง รองลงมาคืออำเภอนาหม่อม และสะเดาตามลำดับ

สำหรับโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (โรคชิคุนกุนยา) ที่มีทั้งยุงลายบ้านและยุงลายสวนเป็นพาหะนำโรค ผู้ป่วยมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย และอาจมีอาการคันร่วมด้วย ตาแดง แต่ไม่ค่อยพบจุดเลือดออกในตาขาว โดยอาการที่เด่นชัดคือปวดข้อ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ข้อเล็ก ๆ เช่นข้อมือ ข้อเท้า อาการปวดข้อจะพบได้หลาย ๆ ข้อเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อย ๆ อาการรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้ อาการจะหายภายใน 1 - 2 สัปดาห์ และบางรายอาการปวดข้อจะอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี ไม่พบผู้ป่วยมีอาการรุนแรงถึงช๊อคซึ่งแตกต่างจากโรคไข้เลือดออก ส่วนโรคไข้ไวรัสชิกา อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ มีผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ซึ่งโดยปกติแล้วอาการเหล่านี้จะเป็นเพียงเล็กน้อยไม่รุนแรง และเป็นอยู่ประมาณ 2 - 7 วัน ยกเว้นในหญิงตั้งครรภ์ซึ่งอาจทำให้เด็กทารกที่คลอดมามีสมองเล็ก (microcephaly) หรือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้ ผู้ป่วยโรคไข้ชิกาส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง การรักษาทำได้ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ และรักษาตามอาการ เช่น ใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้หรือบรรเทาอาการปวด ทั้งนี้ห้ามรับประทานยาแอสไพรินหรือยากลุ่มลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เนื่องจากยาบางชนิดเป็นอันตรายสำหรับโรคนี้ โดยอาจทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้น หากผู้ป่วยมีไข้ หรือออกผื่น ปวดข้อ และตาแดง หรือมีอาการ 2 ใน 3 อาการเหล่านี้ให้รีบไปโรงพยาบาลทันที ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือรักษาเฉพาะ

นอกจากนี้ทุกครัวเรือนต้องร่วมมือกันในการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โดยปฎิบัติตามมาตรการ 3 เก็บ ดังนี้ 1. เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง ขัดล้างภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์ 2. เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง อละ 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่

พร้อมทั้งป้องกันอย่าให้ยุงกัด , ทายากันยุงเพื่อลดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น, สวมใส่เสื้อผ้าเนื้อหนาสีอ่อน ๆ ที่สามารถคลุมผิวหนังและร่างกายได้, นอนในมุ้งหรือห้องที่กรุด้วยมุ้งลวด, หากมีอาการไข้ ออกผื่น ตาแดง หรือปวดข้อ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ให้รีบไปพบแพทย์อย่าซื้อยารับประทานเอง โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422



ศิริลักษณ์ แคล้วคลาด/เรียบเรียง
สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.สงขลา