ส้มโอหอมควนลัง(สงขลา) ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI


28 ส.ค. 2562

“ส้มโอหอมควนลัง” เป็นไม้ผลพื้นเมืองดั้งเดิมที่ปลูกกันอย่างแพร่หลายในพื้นที่เมืองควนลัง จากข้อมูลของผู้สูงอายุบอกต่อกันมาว่า เดิมส้มโอพันธุ์นี้มีถิ่นอยู่ที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา กระทั่งมีการติดต่อค้าขายกัน จึงมีการนำพันธุ์มาปลูกในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่และอำเภอใกล้เคียงแพร่ขยายมายังหลายตำบลรวมถึงที่ควนลัง

ปรากฏว่าส้มโอที่นำมาปลูกกลับมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอม เนื้อแน่นและล่อนออกจากเปลือกง่าย พร้อมกับมีจุดเด่นคือ ไม่มีเมล็ด และเนื้อผลสีแดง-ชมพู เป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภค จนทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ

ความมีลักษณะพิเศษของส้มโอหอมควนลังคือ ไม่มีเมล็ด ต้องขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่งเพียงอย่างเดียว จึงทำให้เป็นข้อดีของการรักษาความเป็นพันธุ์แท้ของส้มโอพันธุ์นี้ไว้มาเป็นเวลาหลายสิบปี ขณะเดียวกันยังได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกส้มโออินทรีย์

แหล่งปลูกส้มโอหอมควนลัง ครอบคลุมพื้นที่เมืองควนลัง จำนวน 66.76 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่เฉพาะที่ปลูกแล้วได้ผลผลิตมีคุณภาพดีมาก คือบริเวณที่ราบลุ่มน้ำในเขตเมืองควนลัง ได้แก่ คลองวาด คลองนนท์ คลองต่ำ และคลองสอ เนื่องจากอยู่ใกล้ลำคลองที่มีตะกอน แร่ธาตุอาหารพืชทับถมจึงมีความอุดมสมบูรณ์ อันอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ส้มโอหอมควนลังมีความต่างจากส้มโอที่ปลูกต่างพื้นที่ โดยมีพื้นที่ปลูกรวมกันประมาณ 200 ไร่

ปัจจุบันเกษตรกรชาวสวนส้มโอควนลังที่เข้าเป็นสมาชิกกลุ่มจะต้องปลูกส้มโอแบบมาตรฐาน GAP ทุกราย จะได้รับการส่งเสริม สนับสนุนจากทางจังหวัด พร้อมทั้งยังกำหนดให้เป็นสินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ด้วย ซึ่งจะมีพิธีมอบหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ในเสาร์ที่ 31 สิงหานี้ ที่โรงแรมลี การ์เดน พลาซ่า

กองสวัสดิการสังคม เทศบาลเมืองควนลัง/ข้อมูล ชัยธวัช มากมูล เรียบเรียง/ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา