ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนสิงหาคม 2562


3 ก.ย. 2562

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมปรับตัวลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคมโดยดัชนีที่มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยปัจจัยลบส่วนหนึ่งมาจากรายได้ภาคเกษตรที่ลดลงจากราคายางพาราที่ตกต่ำอีกครั้ง ประกอบกับราคาผลไม้ ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ที่เก็บเกี่ยวผลผลิตพร้อมกันในเดือนสิงหาคมมีราคาตกต่ำแตกต่างจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งไม่เป็นไปตามความคาดหวังของเกษตรกร และสภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากสถานการณ์ตอบโต้มาตรการกีดกันทางการค้าของรัฐบาลจีนกับสหรัฐของซึ่งได้จัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐมูลค่าราว 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมทั้งปรับลงค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าที่สุดในรอบ 11ปี ซึ่งมีแนวโน้มที่จะลุกลามสู่สงครามการเงินและสงครามการค้าของทั้งสองประเทศ

ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจได้กำหนดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน เพื่อรองรับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และเร่งขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นไปตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ประเทศเพื่อสร้างความมั่นใจ โดยออกมาตรการ 3 ด้าน คือ 1) การพักชำระหนี้ และลดอัตราดอกเบี้ย เป็นเวลา 1 ปี ช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งใน 13 จังหวัด 2) กระตุ้นการบริโภคและการลงทุนผ่านมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว ชิม ช้อป ใช้ โดยจะแจกเงินให้กับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป คนละ 1 พันบาท เพื่อไปใช้จ่ายในการท่องเที่ยว และ 3) มาตรการด้านค่าครองชีพ โดยการให้เงินแก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงผู้สูงอายุ และผู้มีบุตร

อย่างไรก็ตามประชาชนภาคใต้ส่วนหนึ่งมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเป็นส่วน ๆ ซึ่งไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคใต้ที่ซบเซาให้กลับมาได้ เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจภาคใต้ที่ตกต่ำมาเป็นเวลานานจนเป็นปัญหาเรื้อรังที่ต้องได้รับการแก้ไขทั้งระบบและต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เศรษฐกิจภาคใต้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับตัวลดลงในด้านการแก้ปัญหายาเสพติด ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเพราะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในหลายพื้นที่ เช่นโจรใต้ปล้นร้านทองครั้งมโหฬารมูลค่ากว่า 85 ล้านบาท ที่อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา คนร้ายวางระเบิดพร้อมกันหลายจุดที่จังหวัดยะลา เป็นต้น ทั้งนี้ ประชาชนภาคใต้มองว่า ปัญหาความขัดแย้งยังไม่คลี่คลาย และยังเห็นเหตุการณ์การก่อความไม่สงบยังคงมีอยู่ อีกทั้งมีการปรับยุทธวิธีและสถานที่ก่อเหตุที่เปลี่ยนไป ซึ่งสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลทางด้านจิตวิทยาต่อการลงทุนและการเข้ามาท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 34.70 และ 32.80 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ39.70 และ 26.30 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 29.40 , 39.60 และ 32.80 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ คิดเป็นร้อยละ 30.40 รองลงมา คือ ค่าครองชีพและราคาสินค้าสูง คิดเป็นร้อยละ 25.40 และ 12.30 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ตามลำดับ