ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกันยายน 2562


2 ต.ค. 2562

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกันยายนเปรียบเทียบเดือนสิงหาคม และคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม โดยดัชนีที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยปัจจัยบวกส่วนหนึ่งมาจากหลายปัจจัย อาทิ ในเดือนกันยายนเป็นช่วงเทศกาลทำบุญเดือน 10 ซึ่งคนใต้เรียกว่าประเพณีชิงเปรต โดยมี 2 วาระคือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งตรงกับวันที่ 14 และ 28 กันยายน โดยคนภาคใต้ที่เป็นไทยพุทธจะเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อกราบไหว้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และใช้จ่ายซื้อของทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว นอกจากนี้ในวันที่ 28-30 กันยายน เป็นช่วงเริ่มต้นของประเพณีกินเจของคนไทยเชื้อสายจีนในหลายจังหวัดในภาคใต้ อาทิ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดตรัง จังหวัดชุมพร จังหวัดพังงา และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยคนไทยเชื้อสายจีนได้ออกมาจับจ่ายใช้สอย ซื้ออาหารเจ และซื้อวัตถุดิบต่าง ๆ เพื่อใช้ในการปรุงอาหาร อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในการสนับสนุนการใช้จ่ายสินค้าและการท่องเที่ยว “ชิม ช้อป ใช้” ซึ่งเปิดให้ลงทะเบียนในวันจันทร์ที่ 23 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา โดยจะให้สิทธิ์เงิน 1,000 บาทกับประชาชนจำนวน 10 ล้านคน เพื่อใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวของประชาชน ทั้งนี้ประชาชนภาคใต้กล่าวว่าเป็นนโยบายที่ดี เพราะเป็นการช่วยเหลือประชาชนในทุกระดับชั้น และทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ควรปรับปรุงระบบให้สามารถใช้งานง่าย สะดวกและรวดเร็ว เพราะที่ผ่านมาดำเนินการยากมากตั้งแต่ลงทะเบียน สแกนหน้า และจ่ายเงิน ในส่วนดัชนีความเชื่อมั่น ด้านความปลอดในชีวิตและทรัพย์สินปรับตัวลดลง เนื่องจากพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างประสบปัญหาหมอกควัน PM 2.5 จากประเทศอินโดนีเซียที่พัดผ่านเข้ามา ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากต้องเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจและภูมิแพ้ฝุ่น ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดประจำทุกปี และควรได้รับการแก้ไขจากผู้ที่เกี่ยวข้อง


ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 32.60 และ 31.80 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 35.60 และ 32.60 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 35.60, 37.10 และ 36.60 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 29.70 รองลงมา คือ ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำและราคาสินค้าสูง คิดเป็นร้อยละ 23.10 และ 17.40 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ตามลำดั