วัดสระเกษ ทำเรือพระรักษ์โลก ปลอดโฟม ภายใต้แนวคิดภูมิปัญญาเมืองสองเล


14 ต.ค. 2562

วัดสระเกษ จังหวัดสงขลา ทำเรือพระรักษ์โลก ปลอดโฟม ภายใต้แนวคิด “ภูมิปัญญาเมืองสองเล มนต์เสน่ห์วัฒนธรรม”

วัดสระเกษ เป็นอีกหนึ่งวัดในจังหวัดสงขลา ที่ได้มีชื่อเสียงในการจัดทำเรือพระเพื่อเข้าประกวดในงานประเพณีลากเรือพระ ทุกปีมักจะได้รับรางวัลไปครอง สำหรับปีนี้มีความโดดเด่นในการใช้วัสดุธรรมชาติเกือบทั้งลำ ภายใต้แนวคิด“ภูมิปัญญาเมืองสองเล มนตร์เสน่ห์วัฒนธรรม” โดยมีนายปวินทร วงค์สุวรรณ์ เป็นผู้ออกแบบและมีเยาวชนจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในจังหวัดสงขลา มาร่วมเป็นจิตอาสาในการประดิษฐ์เรือพระ เช่น โรงเรียนมหาวชิราวุธจังหวัดสงขลา โรงเรียนวรนารีเฉลิมจังหวัดสงขลา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เป็นต้น

เรือพระลำนี้มีความกว้าง 2 เมตร ยาว 10 เมตร และสูง 6.5 เมตร ใช้ระยะเวลาในการทำกว่า 6 เดือน มีการตกแต่งและใช้วัสดุธรรมชาติที่อยู่คู่กับชุมชน อาทิ เมล็ดธัญพืช หยวกกล้วย ใบกระจูด ใบลาน นำมาเป็นแนวคิดในการสร้างสรรค์ ด้วยลวดลายไทยแบบท้องถิ่นและการผสมผสานกับศิลปะงานหัตถกรรม คหกรรมที่แฝงไปด้วยความหมายและคติธรรม ดังนี้

ส่วนหน้า หัวเรือเป็นพญานาค 9 เศียร เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ เป็นสัตว์ที่อยู่คู่กับพระพุทธศาสนาและประเพณีชักพระมาช้านาน ตามด้วยป้ายชื่อของวัด ซึ่งทำเป็นหม้อบูรณฆฏะ เป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์และการเจริญงอกงาม อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในสิ่งมงคล 108 ที่บรรจุอยู่ในรอยพระพุทธบาท ถัดมาเป็นธรรมจักร ในซุ้มเรือนแก้ว พร้อมเครื่องบูชาอันเป็นการแสดงถึงความเคารพต่อพุทธองค์

ส่วนกลาง เป็นนมพระหรือบุษบกประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามญาติ โดยจำลองคติความเชื่อโบราณ พนมพระเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ ฉัตรและพัดเปรียบเสมือนเขาสัตบริพันธ์ ดอกไม้ต่างจัดตกแต่งเปรียบเสมือนเทือกเขาอันเป็นบริวารของเขาพระสุเมร พัด 4 แทนหลักธรรมอริยสัจ และฉัตร 4 แทนอริยบท 4 อันเป็นหลักธรรมที่ควรน้อมนำมาปฏิบัติ

ส่วนข้างล่าง เป็นหน้ากาล ซึ่งสะท้อนคติธรรมอันหมายถึงการเวลาย่อนกินตัวเองและทำลายทุกสิ่งทุกอย่างให้หมดสิ้นไป ทุกคนจึงไม่ควรประมาท

และส่วนหลัง เป็นพุทธประวัติตอนพระพุทธองค์ เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หลังโปรดพระพุทธมารดา ครั้นออกพรรษา จึงเสด็จลงจากเทวโลกมายังเมืองสักกัสสะนคร รุ่งขึ้นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ชาวบ้านจึงพากันทำบุญตักบาตรเป็นการใหญ่ และเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้น จึงเกิดประเพณีชักพระสืบมาถึงปัจจุบัน ตามด้วยหางพญานาคด้านหลังที่มีธงสามเหลี่ยมหรือธงหางไก่ ตามคติของชาวใต้อันเป็นเครื่องหมายว่าเหล่าเทวดาได้มาบูชาเจดีย์พระจุฬามณี
ซึ่งอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หรืออีกนัยหนึ่งคือการแสดงออกถึงการบูชาสูงสุดต่อพระพุทธองค์นั้นเอง

สำหรับส่วนลำตัวของพญานาคที่เป็นส่วนสำคัญของเรือพระจะใช้ต้นกระจูดและใบลานนำมาสานเป็นดอกไม้ และลวดลายต่าง ๆ ในส่วนหัวพญานาคนำเมล็ดธัญพืช ทั้งเมล็ดถั่วเขียว เมล็ดข้าวโพด มาใช้ทำเป็นเกล็ดต่อเรียงกันกว่า 3 พันชิ้น จึงต้องอาศัยเวลาในการร้อยเรียงชิ้นส่วนต่างๆ และด้วยความร่วมมือกันของเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และผู้มีจิตศรัทธา ทำให้เรือพระวัดสระเกษ สำเร็จออกมาได้อย่างวิจิตรงดงาม มีความประณีต ละเอียดอ่อน และสีสันที่สวยงาม ที่สำคัญวัสดุที่นำมาใช้ไม่ทำลายธรรมชาติและไม่เป็นพิษที่ต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับเป็นการเปิดมิติใหม่ในการทำเรือพระของจังหวัดสงขลา และยังช่วยกันลดขยะ ลดโฟม สร้างสงขลาให้เป็นเมืองสะอาด

อมลรดา ชูประสิทธิ์ /เรียบเรียง/ภาพ
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา