​Information-based lending โอกาสใหม่ของการกู้ยืมเงิน (บทความการเงิน)


2 ธ.ค. 2562

ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา คุณผู้อ่านคงได้ยินข่าว คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.50 ต่อปี เป็น ร้อยละ 1.25 ต่อปี โดยให้มีผลทันที ซึ่งแต่ละสถาบันการเงินต่างตอบรับนโยบายดังกล่าวด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงตาม เชื่อได้ว่าจะเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่ช่วยลดภาระต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการ เนื่องจากต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้ถือว่าเป็นหนึ่งในต้นทุนหลักของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย SMEs

อย่างไรก็ดี ยังมีผู้ประกอบการ SMEs อีกจำนวนมาก ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจจากธนาคารได้ ทำให้ต้องหันไปพึ่งเงินกู้จากแหล่งอื่นๆ หรือสินเชื่อส่วนบุคคลมาใช้เพื่อการทำธุรกิจ ส่งผลให้ต้องแบกรับดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงกว่าเงินกู้เพื่อธุรกิจ หรืออาจเข้าถึงสินเชื่อได้แต่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ที่แพง โดยสาเหตุส่วนใหญ่ที่ผู้ประกอบการ SMEs มักถูกปฏิเสธสินเชื่อเพื่อธุรกิจนั้นคือ การขาดหลักประกัน หรือหลักประกันมีมูลค่าน้อยเกินไป การขาดความน่าเชื่อถือในการทำธุรกิจ ได้แก่ ขาดเอกสารทางการค้า ไม่จัดทำงบการเงินของกิจการ ธุรกรรมการค้าไม่ผ่านบัญชีธนาคาร ทั้งที่แท้จริงแล้ว ผู้ประกอบการ SMEs เหล่านั้นอาจเป็นผู้ดำเนินธุรกิจจริงและมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ แต่ก็ต้องเสียโอกาสจากธนาคารไป

ดังนั้นเพื่อให้ทั้งประชาชนและธุรกิจ SMEs สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้นด้วยต้นทุนที่ถูกลง จึงได้เกิดการปฏิรูปกฎเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะทำงานที่เป็นผู้แทนจากสถาบันการเงินและภาคธุรกิจต่างๆ โดยเป็นการผ่อนคลายกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ ส่งเสริมให้เกิดการให้กู้เงินในลักษณะ Information-based lending นั่นหมายถึง สถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินอื่น สามารถนำข้อมูลอื่นๆ หรือเรียกว่า alternative data ที่สะท้อนพฤติกรรมของผู้กู้ มาร่วมใช้วิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ได้ เพื่อให้สะท้อนศักยภาพในการชำระหนี้ที่แท้จริง นำไปสู่การเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ยกตัวอย่างข้อมูลทั่วไปเช่น ข้อมูลการใช้โทรศัพท์ ค่าสาธารณูปโภคทั้งในด้านมูลค่าการใช้ และประวัติการชำระว่าตรงเวลาหรือไม่ ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการขายสินค้าออนไลน์ คะแนน Rating ร้านค้าจากผู้ซื้อ

ปัจจุบัน สถาบันการเงินบางแห่งเริ่มมีการให้บริการสินเชื่อธุรกิจในลักษณะ Information based lending แล้ว นำร่องด้วยธุรกิจที่มักมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อแบบเดิมๆ นั่นคือการขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือกลุ่มอาชีพไม่มีรายได้ประจำ ได้แก่ (1) ธุรกิจค้าขายออนไลน์ โดยเป็นการปล่อยกู้ให้แก่ร้านค้าที่อยู่ใน e-Commerce platform รายใหญ่ ได้แก่ Lazada Shopee และ Amazon ซึ่งนอกจากข้อมูลรายได้การขายสินค้าแล้ว ยังใช้ข้อมูลพฤติกรรมค้าขายต่างๆที่อยู่บน platform เช่น การให้บริการลูกค้า และคะแนนการรีวิวร้านค้า มาเป็นข้อมูลประกอบในการวิเคราะห์เครดิตของร้านค้า (2) ธุรกิจผู้ประกอบอาชีพอิสระ โดยธนาคารจะเชื่อมต่อข้อมูลพฤติกรรมการทำงานของผู้กู้กับ Application ที่เป็นผู้ให้บริการ เช่น ผู้ขับขี่รถขนส่งสินค้าจาก Grab และ LALAMOVE ซึ่งจะทำให้ได้รับข้อมูลเช่น การรับงานของผู้ขับขี่ ความตรงเวลาในการขนส่ง คุณภาพในการขนส่งสินค้า และจำนวนรายได้ที่ผู้ขับขี่ได้รับจริงในแต่ละเดือนมาประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อได้

ประโยชน์ของการปล่อยกู้ในลักษณะ Information-based lending นอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะรายย่อยหรือรายที่ไม่มีหลักประกัน สามารถเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้แล้ว วงเงินที่ได้รับอนุมัติและเงื่อนไขการชำระเงินจะสอดคล้องกับวงจรการทำธุรกิจมากขึ้น รวมถึงยังได้รับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำลง และระยะเวลาในการอนุมัติสินเชื่อก็จะรวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยประมวลผลข้อมูลพฤติกรรมการทำงานเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว ลดต้นทุนในการพิจารณาสินเชื่อ โดยผู้ประกอบการที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษาผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ๆได้จากเว็บไซต์ของแต่ละสถาบันการเงิน นอกจากนี้ ในปี 2563 ยังจะมีผู้เล่นรายใหม่ในการให้บริการทางการเงิน Peer to Peer Lending (P2P Lending) นั่นคือการให้กู้เงินออนไลน์ระหว่างบุคคลกับบุคคลผ่าน platform

ทั้งนี้ กุญแจสำคัญที่สุดของผู้ประกอบการ SMEs ในการเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงิน หรือเข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือต่างๆของภาครัฐได้ คือการปรับตัวเอง สร้างเครดิตและรักษาเครดิตในการทำธุรกิจให้ดี ไม่ว่าจะเป็น การจดทะเบียนการค้าให้ถูกต้อง การจัดทำบัญชีของกิจการซึ่งต้องแยกจากบัญชีเงินส่วนตัวให้ชัดเจน การเดินบัญชีธุรกรรมผ่านธนาคารอย่างสม่ำเสมอ การชำระหนี้ต่างๆให้ตรงเวลาเป็นไปตามเงื่อนไข มีเป้าหมายและแผนการทำธุรกิจที่ชัดเจน เพียงเท่านี้ เชื่อได้ว่าการกู้เงินจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

ที่มา : ข่าวธปท. ฉบับที่ 75/2561 เรื่องการปฏิรูปกฎเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงิน

https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Press/News2561/n7561t.pdf


ผู้จัดทำ : ญาณิศรา ศตะรัต ผู้วิเคราะห์อาวุโส ส่วนคุ้มครองและให้ความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย