​ผ่อน 0% 10 เดือน ใครได้ใครเสีย (บทความการเงิน)


11 ธ.ค. 2562

ผ่อน 0% 10 เดือน ใครได้ใครเสีย

  • รู้ไหม...การส่งเสริมการขายด้วยการผ่อน กระตุ้นให้ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น
  • รู้ไหม...โปรโมชั่นผ่อน 0% ผู้ให้บริการบัตรเครดิตยังคงได้รับผลประโยชน์และผลกำไร
  • รู้ไหม...ผู้ซื้อไม่ต้องชำระค่าสินค้าเต็มจำนวน สามารถจัดสรรเงินไปทำอย่างอื่นได้


เคยไหม? เมื่อเห็นโฆษณาโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ แล้วรู้สึกว่าโทรศัพท์ของเราเริ่มอืดและค้างบ่อยพอดี พอลองเข้าไปดูราคาสักหน่อยก็ต้องตกใจเพราะแค่รุ่นเริ่มต้นก็มีราคาสูงกว่าเงินเดือนของใครหลายคน แต่ทว่าความหวังยังมีเมื่อเห็นข้อความ “ผ่อน 0% 10 เดือน” คำนวณแล้วต่อเดือนก็คงจ่ายไม่กี่พัน ยังไม่ทันได้คิดเสร็จก็ยื่นบัตรเครดิตให้พนักงานขายทันที! เราได้หรือเสียอะไรกับการผ่อน 0% แล้วใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์ตัวจริงจากโปรโมชั่นนี้?

ปัจจุบันหลายร้านค้าได้จัดส่งเสริมการขาย ผ่อน 0% เป็นเวลา 10 เดือน หรือ 24 เดือน ตัวอย่าง โทรศัพท์มือถือ ราคา 30,000 บาท หากเลือกโปรโมชั่นผ่อน 0% 10 เดือน ก็จะต้องผ่อนชำระเดือนละ 3,000 บาท เป็นระยะเวลา 10 เดือน โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยให้กับบริษัทบัตรเครดิต เมื่อชำระตรงเวลาและเต็มจำนวนตามบิลรายเดือนที่เรียกเก็บ คำถามคือ บริษัทผู้ให้บริการบัตรเครดิตจะได้อะไรจากการให้ผ่อนชำระด้วยดอกเบี้ย 0%

แม้จะจัดโปรโมชั่นผ่อน 0% ผู้ให้บริการบัตรเครดิตยังคงมีกำไร จากการเปิดเผยของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ว่า บัตรเครดิตที่มีการใช้งานจำนวน 14 ล้านใบนั้น มีปัญหาค้างชำระถึง 1 ล้านใบ สอดคล้องกับผลสำรวจจากศูนย์วิจัยของธนาคารแห่งหนึ่ง เปิดเผยว่า มากกว่า 50% ของคนที่มีบัตรเครดิตไม่สามารถจ่ายบิลรายเดือนได้เต็มจำนวน นั่นแสดงให้เห็นว่า แม้จะจัดโปรโมชั่นผ่อน 0% ผู้ให้บริการบัตรเครดิตก็ยังคงทำกำไรได้จากการเรียกเก็บดอกเบี้ยอยู่ดี เพราะคนส่วนหนึ่งไม่สามารถจ่ายบิลได้ตามเงื่อนไขจึงต้องเสียดอกเบี้ยให้กับบริษัทบัตรเครดิต ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดให้เรียกเก็บดอกเบี้ยไม่เกิน 18% ต่อปี

นอกจากนี้ การให้ซื้อสินค้าด้วยการผ่อนและการสะสมแต้มคะแนนต่างๆทำให้บริษัทผู้ออกบัตรสามารถทราบถึงพฤติกรรมการใช้จ่าย ซึ่งสามารถนำเสนอสินเชื่อหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะกับผู้ถือบัตรใบนั้นๆได้ นี่จึงเป็นประโยชน์ที่บริษัทบัตรเครดิตจะได้รับ

คำถามต่อมาคือ ในด้านของผู้ซื้อ โปรโมชั่นผ่อน 0% ทำให้ได้หรือเสียอะไรบ้าง? การไม่ต้องชำระค่าสินค้าเต็มจำนวน ทำให้ผู้ซื้อสามารถจัดสรรเงินส่วนนั้นไปทำอย่างอื่นได้ เช่น เอาไปออมและลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทน หรือนำเงินส่วนนั้นไปใช้จ่ายในเรื่องที่จำเป็นซึ่งนั่นเป็นข้อดีของการใช้บัตรเครดิต แต่การผ่อนก็เป็นดาบสองคมสำหรับคนที่ไม่มีวินัยทางการเงิน เพราะอาจใช้จ่ายเกินตัวโดยลืมไปว่าตนเองยังมีภาระหนี้ที่ต้องชำระรออยู่ในทุกๆเดือน และการผ่อนยังมีผลต่อการตัดสินใจทำให้ผู้ซื้อตัดสินใจที่จะซื้อง่ายขึ้นเพราะผู้ซื้ออาจมองแค่ยอดผ่อนต่อเดือนมากกว่าที่จะสนใจราคาเต็ม เราจึงเห็นร้านค้าบางร้านแสดงยอดผ่อนต่อเดือนในการโฆษณาแทนที่จะเป็นราคาเต็มของสินค้าตัวนั้น

แต่ถ้าหากเผลอมีหนี้บัตรเครดิตจำนวนมากจนเป็นหนี้เสีย สิ่งแรกที่ควรทำคือหยุดก่อหนี้ และทยอยผ่อนชำระหนี้ที่มีอยู่ โดยปัจจุบันมีโครงการคลินิกแก้หนี้ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ว่าคุณจะเป็นหนี้กับบัตรใบเดียวหรือหลายใบก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้โดยศึกษารายละเอียดที่ www.debtclinicbysam.com

ในมุมของผู้เขียน บัตรเครดิตอาจเปรียบได้กับความร้อนที่ใช้ในการทำอาหาร ถ้าใช้อย่างเหมาะสมจะทำให้ปรุงอาหารออกมาได้อร่อยและสุกแบบกำลังพอดี แต่ถ้าหากใช้มากเกินไปอาหารก็จะไหม้และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้รับประทาน ซึ่งในที่นี้ก็คือสุขภาพทางการเงินของเรานั่นเอง ดังนั้น ก่อนจะรูดบัตรเครดิตทุกครั้งจึงควรถามตัวเองว่า “จำเป็น” หรือแค่ “อยากได้” รวมทั้งพยายามจ่ายหนี้บัตรเครดิตให้เต็มจำนวนและตรงเวลา ซึ่งจะทำให้ผู้ถือบัตรเครดิตใบนั้นเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง


ที่มา : ยอดปรับโครงสร้างพุ่ง-ไหลกลับเป็น’เอ็นพีแอล’40% ‘ไอเอ็มเอฟ’ห่วงหนี้ครัวเรือน, นสพ.กรุงเทพธุรกิจ, วันที่ 17 เมษายน 2562

https://bit.ly/2NtNedh

ผู้จัดทำ : สุรเชษฐ์ ศรีภูริรักษ์

ผู้วิเคราะห์ ส่วนคุ้มครองและให้ความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย