​เผยผลวิจัย ฝุ่นโรงไฟฟ้าชีวมวลกระทบสุขภาพประชาชน


11 ธ.ค. 2562

โครงการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลและนิคมอุตสาหกรรมในบริเวณพื้นที่จังหวัดสงขลา ทำให้ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเกิดคำถามและความกังวลด้านผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่อาจเปลี่ยนแปลงจากการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล และเขตอุตสาหกรรม


นอกจากนี้ในปี 2558-2560 ที่ผ่านมาและในปีนี้ ปัญหาหนึ่งที่ถือว่าเป็นผลกระทบสำคัญสำหรับภาคใต้ คือปัญหาหมอกควันจากไฟไหม้ป่าประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งทำให้ระดับมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศสูงขึ้นในช่วงที่เกิดเหตุ ทำให้ประชากรในพื้นที่มีค่ามลพิษอากาศสูงมีอาการผิดปกติ เช่น ระคายเคืองตาและระบบทางเดินหายใจ

โครงการผลกระทบทางสุขภาพทางเดินหายใจ คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมจากมลพิษ จังหวัดสงขลา โดย ดร. นพ. ธรรมสินธ์ อิงวิยะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะ เพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมลพิษทางอากาศที่อาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากโรงไฟฟ้าชีวมวลและเก็บข้อมูลสุขภาพและอากาศพื้นฐานก่อนการจัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

จากการสุ่มสำรวจจำนวน 100 คนซึ่งอยู่อาศัยในพื้นที่ก่อตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งหนึ่ง พบว่ามีประชากรทั้งหมดจำนวน 17 คนที่มีผลการตรวจสมรรถภาพปอดด้วย spirometry ผิดปกติ ซึ่งแปลว่าประชากรกลุ่มนี้มีโรคประจำตัวทางเดินหายใจอยู่ก่อนแล้ว ได้แก่ โรคหืดหรือโรคถุงลมโป่งพอง

ต่อมาได้มีการติดตามสมรรถภาพปอดของประชากรกลุ่มดังกล่าวด้วย Peak Spirometer ซึ่งเป็นเครื่องทดสอบสมรรถภาพปอดด้วยการวัดความสามารถในการหายใจออกในระยะสั้น ซึ่งติดตามได้ทั้งสิ้นจำนวน 83 คน ซึ่งมีประชากร 15 คนที่มีผลจาก spirometry ผิดปกติจากกลุ่ม 17 คนดังกล่าวข้างต้น พบว่าผลการทดสอบจะมีความผิดปกติเมื่อผู้ป่วยมีพยาธิสภาพที่ปอด เช่น เป็นโรคหืด หรือถุงลมโป่งพองอยู่แล้ว และค่า มีค่าเพิ่มขึ้นในประชากรทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มที่มีสุขภาพดี พบว่าค่าสมรรถภาพปอดดีขึ้น สัมพันธ์กับช่วงที่โรงไฟฟ้าหยุดทำการชั่วคราว แต่ข้อควรระวังในการแปลผล คือ เนื่องจากผลดังกล่าวไม่ได้มีการเชื่อมโยงกับค่ามลพิษอากาศโดยตรง จึงอาจอธิบายด้วยเหตุจากความบังเอิญได้อีกทาง

สำหรับพื้นที่วิจัยอีกแห่งคือพื้นที่อำเภอเทพา เนื่องจากเป็นพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินแต่ยังไม่มีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมมากนัก งานวิจัยในระยะนี้จัดทำขึ้นเพื่อทำทะเบียนพื้นฐานประชากรที่ป่วยและมีผลการตรวจสมรรถภาพปอดผิดปกติ จากผู้ประสงค์เข้าร่วม 451 รายพบว่า มีประชากรร้อยละ 45 ที่มีผลการตรวจสมรรถภาพปอดผิดปกติ เนื่องจากเป็นการสุ่มโดยเจตนาของทางผู้วิจัยที่ต้องการสุ่มประชากรที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับทางเดินหายใจมากกว่าในกลุ่มประชากรผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว โดยอาศัยการให้ประวัติโรคประจำตัวโดยผู้เข้าร่วม

ทั้งสองพื้นที่พบข้อจำกัดในการวิเคราะห์เชื่อมโยงค่ามลพิษอากาศ คือ ยังไม่มีข้อมูลฝั่งสุขภาพมากพอที่จะวิเคราะห์เชื่อมโยง เนื่องจากเป็นการติดตามในปีแรกและมีข้อมูลเพียงปีเดียว ต้องมีการเก็บข้อมูลและติดตามต่อเนื่องในระยะวาว

อย่างไรก็ตามหลักฐานจากทั้งสองพื้นที่สนับสนุนว่ากลุ่มที่มีโรคประจำตัวทางเดินหายใจควรได้รับการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้กับเขตอุตสาหกรรม


ที่มา สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้