​โครงการอินทนนท์ : สกุลเงินดิจิทัลของไทย (บทความการเงิน)


24 ธ.ค. 2562

โครงการอินทนนท์ : สกุลเงินดิจิทัลของไทย โดย อารียา ยวงทอง ธันวาคม 2562

ถ้าพูดถึงอินทนนท์ผู้อ่านหลายๆท่านคงนึกถึงยอดดอยที่สูงที่สุดในประทศไทย แต่สำหรับใครที่ติดตามข่าวการเงินในช่วงปีที่ผ่านมาคงคุ้นๆกับคำว่า “โครงการอินทนนท์” อยู่บ้าง สำหรับบทความฉบับนี้จะพาท่านไปรู้จักกับโครงการอินทนนท์มากขึ้น

“โครงการอินทนนท์” มีที่มาจากชื่อภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย ซึ่งก็เป็นชื่อที่สอดคล้องกับค่านิยมของธนาคารแห่งประเทศไทย “มองไกล” มองไปข้างหน้า ตื่นตัวพร้อมรับเทคโนโลยีใหม่ๆที่ก้าวเข้ามา โครงการอินทนนท์เกิดจากความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง และ บริษัท R3 ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทด้าน Blockchain ระดับโลก ร่วมกันพัฒนาระบบต้นแบบการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงิน โดยใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) เป็นสื่อกลางในการทำธุรกรรม ที่ได้นำเทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology: DLT) มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบการชำระเงินของประเทศ และมุ่งเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ระบบการเงินไทยพร้อมรับพัฒนาการทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างเท่าทัน

โครงการอินทนนท์ได้เริ่มทดสอบเมื่อปลายปี 2561 โดยมีการทดสอบทั้งหมด 3 ระยะ ระยะที่ 1 (สิงหาคม 2561- มกราคม 2562) เป็นการทดสอบการโอนเงินระหว่างธนาคารพาณิชย์ รวมถึงธนาคารพาณิชย์กับแบงก์ชาติ ที่ได้นำคุณสมบัติของ Blockchain มาใช้ทำให้ธนาคารสามารถโอนเงินระหว่างกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวกลาง ทั้งนี้ระบบการชำระเงินของไทยในปัจจุบันมีอยู่ 2 ระบบใหญ่ๆ คือ (1) ระบบ Wholesale เป็นการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงินกับสถาบันการเงิน และ (2) ระบบ Retail เป็นการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงินกับประชาชน ทั้งนี้โครงการอินทนนท์เป็นโครงการที่ทำในระดับ Wholesale หรือการโอนเงินในปริมาณสูงๆระหว่างสถาบันการเงินด้วยกันเองและยังทำในวงจำกัด ระบบการโอนเงินแบบ Wholesale เมื่อธนาคารต้องการโอนเงินระหว่างกัน แต่ละธนาคารจะไม่สามารถโอนเงินให้กันเอง ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งมีบัญชีอยู่ที่แบงก์ชาติ แบงก์ชาติจะเป็นตัวกลางในการโอนเงิน เพื่ออธิบายให้เห็นภาพผู้เขียนขอยกตัวอย่างประกอบ เช่น เมื่อธนาคาร A ต้องการโอนเงินให้ธนาคาร B แบงก์ชาติก็จะตัดเงินจากบัญชีธนาคาร A ไปให้บัญชีธนาคาร B โดยที่ธนาคาร A จะไม่สามารถโอนเงินให้ธนาคาร B โดยตรงได้ การทำเช่นนี้เรียกว่า การทำ “Gross settlement” หรือการทำ Real-time gross settlement เกิดขึ้นปุ๊บก็ทำเลย และจำเป็นต้องมีตัวกลางคือแบงก์ชาติ แต่สำหรับโครงการอินทนนท์ซึ่งนำเทคโนโลยี DLT มาใช้ ทำให้แบงก์ชาติไม่ต้องเข้าไปเป็นตัวกลางในการโอนเงินระหว่างธนาคารแต่ละแห่ง ผลการทดลองในระยะที่ 1 พบว่าการนำเทคโนโลยีDLT มาใช้ สามารถลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินระหว่างธนาคารให้ถูกลงมาก

โครงการอินทนนท์ระยะที่ 2 (กุมภาพันธ์ - มิถุนายน 2562) ได้มีการนำเทคโนโลยี Blockchain มาทดสอบต่อจากโครงการในระยะแรกโดยครอบคลุม 2 เรื่อง คือ (1) ธุรกรรมการซื้อขายและการซื้อคืน พันธบัตรระหว่างสถาบันการเงิน (Interbank Bond Trading and Repurchase Transaction) ด้วยระบบ "Smart contract" ซึ่งระบบนี้เป็นความพิเศษอย่างหนึ่งของ Blockchain คือ เราสามารถเขียนเงื่อนไขเพื่อกำหนดให้ธุรกรรมเกิดขึ้นในเวลาที่เราต้องการ ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในทันที โดยแบงก์ชาติจะออกเหรียญสกุลเงินดิจิทัล หรือ CBDC เพื่อใช้ในการทำธุรกรรมการซื้อขายพันธบัตรได้ตลอด 24 ชม. ทุกวัน และ (2) เรื่องการกำกับดูแลและตรวจสอบข้อมูลการโอนเงินสำหรับลูกค้า (Regulatory Compliance and Data Reconciliation) ผลการทดสอบโครงการในระยะที่ 2 พบว่า DLT มีศักยภาพที่จะช่วยให้สถาบันการเงินสามารถทำธุรกรรมการซื้อขายและการซื้อคืนพันธบัตร ระหว่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสามารถลดระยะเวลา ลดภาระการตรวจสอบการส่งมอบพันธบัตรและการชำระราคา (settlement) ของธุรกรรมดังกล่าวที่มีขั้นตอนตรวจสอบข้อมูลระหว่างกันหลายขั้นตอนได้ นอกจากนี้ยังช่วยลดภาระการตรวจสอบและลดข้อผิดพลาดการโอนเงินของลูกค้า

สำหรับโครงการอินทนนท์ ระยะที่ 3 (สิงหาคม – ธันวาคม 2562) มุ่งเน้นการนำ DLT มาใช้ทดสอบการโอนเงินระหว่างประเทศ (cross-border funds transfer) รวมถึงการออกแบบเชิงธุรกิจและการกำกับดูแลให้เป็นไปตามเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแบงก์ชาติมีแผนในการร่วมดำเนินการกับธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority: HKMA) ภายใต้กรอบความร่วมมือด้าน FinTech เพื่อส่งเสริมการโอนเงินระหว่างประเทศให้มีต้นทุนที่ลดลงและประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคตสำหรับผลการทดสอบโครงการในระยะที่ 3 ยังอยู่ในช่วงสุดท้ายของการทำการทดสอบ

อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าการนำ Blockchain ที่มีการทำงานเบื้องหลังโดยเทคโนโลยี DLT มาใช้เป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและน่าจับตามองอย่างยิ่ง เทคโนโลยีนี้จะนำการเงินสมัยใหม่ไปสู่การเปลี่ยนแปลงและมีการพัฒนาอย่างไรในอนาคตก็ต้องคอยติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด