​ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนธันวาคม 2562


4 ม.ค. 2563

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง


ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมปรับตัวลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน และแตกต่างจาก 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมเดือนธันวาคมปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเสมอ ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนภาคใต้ที่มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ความสุขในการดำเนินชีวิต รายได้จากการทำงาน ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

โดยปัจจัยลบมาจากสาเหตุที่สำคัญหลายปัจจัย อาทิ เป็นช่วงเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงขาลง และหลายประเทศในภูมิภาคนี้ล้วนแต่ได้รับผลกระทบเช่นกัน ประกอบกับราคาพืชผลทางเกษตรที่ตกต่ำ เนื่องจากความต้องการของผู้ซื้อน้อยกว่าปริมาณของผลผลิตทางการเกษตรที่ออกมา และเกษตรกรส่วนหนึ่งไม่มีความรู้ความเข้าใจในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมถึงการเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม การลงทุน และการส่งออกของธุรกิจเอสเอ็มอีภาคใต้ อีกทั้ง การนำเข้าสินค้าจากจีน ซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาถูกกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศค่อนข้างมาก ทำให้ผู้ผลิตในภาคใต้ของประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ จึงจำเป็นต้องปิดตัวลงจำนวนไม่น้อย

นอกจากนี้ ผู้ประกอบอาชีพประมงส่วนหนึ่งประสบปัญหาการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง การแข่งขันของผู้ประกอบการร้านค้าปลีกทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่อยู่นอกระบบภาษี เช่น ร้านขายอาหาร ร้านขายน้ำ และร้านค้าแผงลอย เป็นต้น ล้วนได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคมีน้อยกว่าปริมาณร้านค้า ทำให้ร้านค้าส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถแข่งขันได้ต้องปิดตัวลง แม้ว่าภาครัฐได้ออกมาตรการต่าง ๆ มากมายเพื่อรับมือกับเศรษฐกิจขาลง และได้ช่วยเหลือประชาชนในหลายภาคส่วนเพื่อให้สามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่มาตรการต่างๆ ยังไม่สามารถช่วยผลักดันเศรษฐกิจโดยภาพรวมของภาคใต้ให้ดีขึ้นได้อย่างชัดเจน โดยประชาชนภาคใต้ส่วนหนึ่งมองว่ามาตรการของภาครัฐเป็นเพียงช่วยเหลือเบื้องต้น ให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแค่ชั่วคราว แต่ไม่มีความยั่งยืน

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นที่ลดลง ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การแก้ปัญหายาเสพติด และการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยปัจจัยลบส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลง เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในหลายพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะเหตุเจ้าหน้าที่ยิงปะทะประชาชนซึ่งเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบเสียชีวิต 3 ศพ บนภูเขาอาปี เทือกเขาตะเว ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ซึ่งภาครัฐได้เยียวยาให้กับผู้ได้รับความเสียหายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มมากขึ้น ในส่วนดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว

โดยปัจจัยบวกส่วนหนึ่งมาจากนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางพักผ่อนท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลวันคริสต์มาสจนถึงปีใหม่โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลอันดามันที่มีความสวยงาม เหมาะสมหรับการพักผ่อนหย่อนใจในช่วงวันหยุดยาว รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคเพื่อเลี้ยงฉลองกับญาติและเพื่อน อีกทั้งการซื้อของขวัญเพื่อมอบให้กับผู้ที่รักและเคารพในช่วงเทศกาลปีใหม่

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 32.60 และ 30.40 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 36.50 และ 38.60 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 32.40 , 30.30 และ 39.70 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 28.40 รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง และราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ คิดเป็นร้อยละ 26.20 และ 19.50 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง ตามลำดับ