สธ.แจ้งเตือนระวังการสัมผัสแมงกะพรุนพิษบริเวณชายหาดสมิหลาและเกือบทุกชายหาดของจังหวัดสงขลา


4 ก.พ. 2563

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา แจ้งเตือนให้ประชาชนระวังการสัมผัสแมงกะพรุนพิษ ซึ่งมีโอกาสพบบริเวณชายหาดสมิหลาและเกือบทุกชายหาดของจังหวัดสงขลาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์

นายแพทย์ อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ในระยะนี้ขอเตือนให้ประชาชนที่มาเล่นน้ำทะเลที่บริเวณชายหาดชลาทัศน์, หาดสมิหลา อำเภอเมืองสงขลา รวมทั้งบริเวณชายหาดทั่วไปของจังหวัดสงขลา ให้ระมัดระวังแมงกะพรุนพิษ เนื่องจากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง ได้แจ้งผลการสำรวจแมงกะพรุนพิษจังหวัดสงขลา เมื่อ 23 มกราคม 2563 ซึ่งมีโอกาสพบแมงกะพรุนกล่องซึ่งเป็นแมงกะพรุนที่พบเป็นประจำทุกปีในเดือนกุมภาพันธ์และลงพื้นที่สำรวจบริเวณชายหาดชลาทัศน์และแหลมสมิหลา พบแมงกะพรุนหัวขวด (Physalia sp.) แพร่กระจายหนาแน่น 2 ตัวต่อ 1000 ตารางเมตร


ดังนั้น หากพบว่าในทะเลมีแมงกะพรุนพิษ ไม่ควรลงเล่นน้ำโดยเด็ดขาด กรณีที่สัมผัสแมงกะพรุนพิษแล้ว ให้รีบปฐมพยาบาลดังนี้ เรียกให้ผู้อื่นช่วย และอย่าทิ้งให้ผู้ป่วยอยู่ตามลำพัง เพราะอาจจะหมดสติได้ ห้ามขัดถู หรือ ราดน้ำจืด หรือ น้ำเปล่าโดยที่ยังไม่ราดน้ำส้มสายชู วิธีปฐมพยาบาลที่ถูกต้องให้ใช้น้ำส้มสายชูราดบริเวณที่ได้รับพิษอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 30 วินาทีและรีบนำส่งโรงพยาบาล ถ้าหมดสติ ไม่มีชีพจรให้ปั๊มหัวใจก่อน ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีอาการหายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ปวดบริเวณที่สัมผัส คัน บวมแดง ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที โดยสามารถเรียกใช้บริการจากสายด่วนนเรนทรสงขลา โทร 1669 เพื่อบริการรับส่งผู้ป่วยจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินดังกล่าว บริการฟรี 24 ชม.

สำหรับแมงกะพรุนหัวขวด (Physala sp.) มักพบนอกชายฝั่ง แต่ผลของกระแสน้ำและคลื่นลมทะเล อาจพัดพาแมงกระพรุนเข้ามารวมกันในบางพื้นที่โดยไม่ใช่การระบาด ทั้งนี้แมงกะพรุนหัวขวด หรืออาจมีชื่อเรียกว่า แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส หรือแมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส มีรูปร่างสีฟ้าหรือสีม่วง มีหนวดยาว ลักษณะเรียว รี ยาว ที่ขอบด้านบนสุดมีลักษณะเป็นสันย่น ทำหน้าที่รับแรงลม ทำให้สามารถแพร่กระจายในชั้นผิวน้ำตามแรงลม ปกติจะพบในทะเลปิดของมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทะเลเมดิเตอเรเนียน มหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย จัดเป็นแมงกะพรุนชนิดหนึ่งที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก เทียบเท่าแมงกะพรุนกล่อง โดยพิษของแมงกะพรุนหัวขวด จะทำลายระบบประสาท ผิวหนัง หัวใจ เมื่อถูกต่อยจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนอย่างมาก ส่วนใหญ่คนที่โดนพิษจะช็อก และหัวใจล้มเหลวแต่ระดับความเป็นพิษสามารถทำให้บาดเจ็บได้ในหลายระดับ ขึ้นอยู่กับความต้านทานของแต่ละบุคคลและปริมาณพิษที่ได้รับ ตั้งแต่อาการแสบคัน จนถึงปวดแสบปวดร้อน รวมถึงกับอาการไข้ ช็อค และเกิดความผิดปกติกับหัวใจและปอด ทั้งนี้อย่าเก็บแมงกะพรุนที่ตายแล้วด้วยมือเปล่าหรือนำมาเล่น เพราะต่อมพิษยังสามารถปล่อยพิษได้



ศิริลักษณ์ แคล้วคลาด/เรียบเรียง ณัฏฐกร นาคแก้ว/ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา