ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกุมภาพันธ์ 2563


7 มี.ค. 2563

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมปรับตัวลดลง โดยดัชนีที่ปรับตัวลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคมได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) การออมเงิน การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยปัจจัยลบเกิดจากหลายปัจจัย อาทิ

ความขัดแย้งทางการค้าระว่างสหรัฐฯ และจีน ค่าเงินบาทผันผวน ภัยแล้ง แต่ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสภาพคล่องของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน คือ ความวิตกกังวลของเชื้อไวรัสโควิค-19 ในประเทศไทย ที่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ทำให้เกิดความกังวลว่าจะมีผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนระมัดระวังตนเอง หลีกเลี่ยงการไปในพื้นที่ผู้คนพลุกพล่าน เช่น แหล่งท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติ อาทิ จีน มาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่กำลังจะเดินทางมาท่องเที่ยวในภาคใต้ ได้ยกเลิกการเดินทางแบบไม่มีกำหนด ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงกว่า 50% ส่งผลให้การค้าขายในภาคใต้ซบเซาอย่างหนัก ผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก

อาทิ โรงแรม รีสอร์ท บริษัทนำเที่ยว มัคคุเทศก์ โลจิสติกส์พาหนะโดยสารเพื่อการท่องเที่ยว ธุรกิจบันเทิง ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก สินค้าโอท็อป และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ อีกมากมายที่พึ่งพิงการท่องเที่ยว อีกทั้งผลกระทบดังกล่าวยังส่งผลต่อประชาชนรากหญ้าที่หาเช้ากินค่ำจำนวนมาก ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนับเป็นปัจจัยภายนอกที่เกิดขึ้น โดยไม่มีใครคาดการณ์ไว้ก่อน ซึ่งในขณะนี้นับเป็นวิกฤตอย่างมากกับประชาชนส่วนหนึ่งในภาคใต้ และจะวิกฤตหนักมากกว่านี้ หากภาครัฐไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ ทั้งนี้ภาครัฐควรบอกกับประชาชนถึงวิธีการป้องกันโรคที่ถูกต้อง อีกทั้งไม่ควรกระจายข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนทำให้ประชาชนตื่นตระหนกและเกิดความหวาดกลัวจนเกินไป แต่ควรสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตโดยปกติสุข


ทั้งนี้ ธุรกิจในภาคใต้หลายภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดไวรัสโควิค-19 ส่งผลให้ขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ทำให้ไม่มีเงินจ่ายค่าจ้างแก่พนักงาน จึงวอนขอให้ภาครัฐช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยออกมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ อาทิ การให้กู้ยืมเงินแบบไม่มีดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ยต่ำ การผ่อนผันการชำระหนี้ การร่วมมือระหว่างภาครัฐและผู้ประกอบการท่องเที่ยวในการจัดรายการส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว การจัดโปรโมชั่นการท่องเที่ยวในวันธรรมดา ส่งเสริมให้คนไทยเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น นโยบายลดหย่อนภาษี เพื่อให้คนไทยออกมาท่องเที่ยวและใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจ อีกทั้ง การช่วยเหลือลูกจ้าง และพนักงานของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงผู้ค้าขาย หาบเร่ แผงลอย เป็นต้น

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 34.70 และ 32.80 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 39.70 และ 28.80 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 24.20 , 34.60 และ 30.40 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 28.40 รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง และราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ คิดเป็นร้อยละ 25.30 และ 17.40 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง ตามลำดับ