ส่องมาตรการแบงก์ชาติ ช่วยวิกฤต COVID-19 ( ตอนที่ 4) ตลาดการเงิน


4 พ.ค. 2563

ส่องมาตรการแบงก์ชาติ ช่วยวิกฤต COVID-19 ( ตอนที่ 4) ตลาดการเงิน

ตอนที่ 4 ตลาดการเงิน

จากสถานการณ์ปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าไวรัส COVID-19 สร้างผลกระทบต่อประเทศไทยในทุกๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบในด้านของการใช้ชีวิต หรือรายได้จากการประกอบอาชีพที่ลดลง ภาคเอกธุรกิจมียอดขายและรายได้ที่ลดลงจากหลากหลายปัจจัย เช่น นักท่องเที่ยวลดลง ประชาชนใช้ชีวิตในที่อยู่อาศัยมากขึ้น จึงไม่ได้ออกมาบริโภคใช้จ่ายเหมือนในอดีต เป็นต้น ซึ่งไม่เพียงแต่ภาคประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ภาคตลาดการเงินของประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

ตลาดการเงิน ถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเป็นแหล่งรวมเงินทุนและหลักทรัพย์ต่างๆ ที่น่าลงทุน ภาคธุรกิจที่ต้องการเงินทุนก็ใช้ตลาดการเงินเป็นแหล่งหาทุนโดยวิธีการต่างๆ เช่น การออกหุ้นกู้ หุ้นสามัญ เป็นต้น เมื่อภาคธุรกิจได้เงินทุนก็จะนำไปลงทุนขยายธุรกิจของตนเอง ก่อให้เกิดการจ้างงาน ทำให้ประชาชนมีรายได้ นำไปบริโภคสินค้าอื่นๆ รวมถึงการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ เพื่อหาผลตอบแทน อาจกล่าวได้ว่าตลาดการเงินเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้ดียิ่งขึ้น

ปัญหาที่ตลาดการเงินประสบอยู่ในปัจจุบัน คือ นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์จากไวรัส COVID-19 จึงไปไถ่ถอนหรือขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ ส่งผลให้กองทุนรวมขาดสภาพคล่องหรือมีเงินทุนที่จะใช้ในการดำเนินงานน้อยลง กองทุนรวมจึงต้องรีบขายตราสารหนี้ที่มีคุณภาพของตนเองออกไปในราคาที่ต่ำกว่าปกติเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เมื่อขายตราสารหนี้ออกไปในราคาต่ำกว่าปกติกองทุนรวมก็จะมีผลประกอบการที่แย่ลง ซึ่งจะสะท้อนต่อไปยังราคาของหน่วยลงทุนที่จะลดลง ยังผลให้ผู้ลงที่มีหน่วยลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ต่ำลง

กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจึงได้ร่วมกันกำหนดมาตรการเพื่อลดผลกระทบต่อผู้ลงทุนและตลาดการเงิน ดังนี้

1. กองทุนรวมตราสารหนี้ ธปท. เปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์ที่ซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตลาดเงิน และกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีตราสารหนี้ที่มีคุณภาพและเป็นกองทุนเปิด ซึ่งประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจากปัญหาของตลาดการเงิน สามารถมาขอเงินทุนเสริมสภาพคล่องจาก ธปท. ได้ โดยนำหน่วยลงทุนของกองทุนรวมมาเป็นหลักประกันในการขอสภาพคล่อง

2. ตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีคุณภาพและครบกำหนดต้องชำระเงินคืนให้ผู้ลงทุน ซึ่งได้รับผลจากปัญหาสภาพคล่องของตลาดการเงิน จนไม่สามารถออกตราสารหนี้ใหม่ ทดแทนตราสารหนี้เดิมที่ครบกำหนดได้

2.1 สมาคมธนาคารไทย ธนาคารออมสิน ธุรกิจประกันภัย และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ได้ร่วมกันก่อตั้งกองทุนที่มีเงิน 70,000 - 100,000 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับการเสริมสภาพคล่องโดยการลงทุนในตราสารหนี้ดังกล่าว

2.2 ธปท. และกระทรวงการคลัง เห็นว่าควรจะตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีเงิน 400,000 ล้านบาท เพื่อสำหรับช่วยลงทุนในตราสารหนี้ดังกล่าว ซึ่งบริษัทที่จะได้รับความช่วยเหลือจะต้องผ่านเกณฑ์ที่กองทุนกำหนด

3. ตราสารหนี้ภาครัฐ ธปท. จะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง และเอื้อให้ราคาของหลักทรัพย์ต่างๆ กลับสู่สภาพปกติ

มาตรการข้างต้นจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับตลาดการเงิน ทำให้กองทุนรวมไม่จำเป็นต้องรีบขายตราสารหนี้ที่มีคุณภาพในราคาที่ต่ำกว่าปกติ หน่วยงานเอกชนและภาครัฐมีเงินทุนใช้ในการดำเนินงาน ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานเหล่านี้สามารถปฏิบัติงานในช่วงที่สถานการณ์ไม่ปกติได้ โดยไม่กระทบต่อผลการดำเนินการมากนัก ดังนั้นจึงอยากจะขอให้ทุกๆ คน มีความมั่นใจในตลาดการเงินของประเทศ ไม่ตื่นตระหนกรีบขายหน่วยลงทุนของตนเอง เพราะจะทำให้ตนเองได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าปกติ ในอนาคตเมื่อสถานการณ์ไม่ปกติเหล่านี้ได้ผ่านพ้นไป ตลาดการเงินก็จะกลับมาฟื้นตัวและเป็นสิ่งที่ช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศไทยกลับมาฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

แหล่งที่มาของข้อมูล :

1. https://www.moneybuffalo.in.th/ธุรกิจและเศรษฐกิจ/มาตรการรองรับโควิด19

2. https://www.bot.or.th/Thai/FinancialMarkets/Financ...

Structure/Pages/default.aspx

3. https://www.bot.or.th/Thai/AboutBOT/Activities/Pag...

_w9Dg-jMBOKV2yz6jD2n4CCUnReR6aqgedFKJG6nPmF0r76tw

4. https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Press/...

5. https://www.mcot.net/viewtna/5e8c4b55e3f8e40af142a...

ผู้เขียน ธนิก พรเทวบัญชา

ธนาคารแห่งประเทศไทย สํานักงานภาคใต้

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล

จึงไม่จําเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย