​อาสาสร้างสุข "สร้างบ้านใหม่ให้ป้าเดือน" สังคมเล็กๆ กับการแบ่งปันที่ยิ่งใหญ่


12 พ.ค. 2563

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 เราได้เห็นเรื่องราวดีๆ ได้เห็นการแบ่งปันออกมาในหลายรูปแบบ ซึ่งความจริงแล้วเรื่องราวดีๆ ในสังคมบ้านเรามีมาตลอด กลุ่มอาสาสร้างสุข กลุ่มผ้าสร้างสุข คือกลุ่มสังคมเล็กๆ ภายใต้การนำของผู้ชายตัวเล็ก นามว่า "ตั้ม" นิพนธ์ รัตนาคม

ผมรู้จักผู้ชายคนนี้มานานแล้ว เขาคือครูคนแรกในอาชีพนักข่าวท้องถิ่นของผมก่อนที่เขาจะย้ายไปอยู่ในรั้วม.อ. ในสังกัดสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ (วพส.) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้ทำงานร่วมกับสังคมมากขึ้น กลุ่มผ้าสร้างสุข รับบริจาคเสื้อผ้ามือสองมาขายเพื่อเงินไปช่วยเหลือสังคม และยังมีสมาคมอาสาสร้างสุขภาคใต้ หรือศูนย์อาสาสร้างสุข-ภาคใต้ ที่ขับเคลื่อนการช่วยเหลือสังคม ช่วยผุ้ด้อยโอกาสเป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น

ล่าสุดในช่วงวิกฤตโควิด-19 สมาคมอาสาสร้างสุข ได้ระดมช่วยเหลือนางปานเดือน เยาวยอด หรือยายเดือน อายุ 71 ปี โดยมีเรื่องราวน่าสนใจ ที่พี่ตั้ม ได้เขียนในเฟสบุ๊คส่วนตัวและเพจกลุ่อาสาสร้างสุข-ภาคใต้ ดังนี้

“กลางคืนก็ยังร้อน ยายนอนในเพิงไม่ได้นะลูก ต้องออกมานอนบนแคร่ริมถนน ยุงเยอะหน่อยก็ยังดีกว่า”

เป็นคำตอบที่ “ยายเดือน” บอกเรา หลังจากที่ผม Ubaidillah Hawae ทราบว่ายายอายุ 71 ปีคนนี้อยู่ในเพิงไม้เก่า ล้อมรอบด้วยไวนิลขาด ๆ ในชุมชนหลังอาชีวะสงขลามาหลายปี

คนแก่ที่เดินเหินไม่คล่อง แข้งขาอ่อนแรงอยู่ในเพิงร้าย ๆ ไม่มีลูกหลานดูแล อาศัยเพื่อนบ้านใกล้เคียงส่งข้าวส่งน้ำตามอัตภาพ

แม้จะไม่มีที่ดินของตนเอง ก็ได้อาศัยที่ดินริมทางรถไฟได้ปักหลักจนกว่าจะสิ้นใจไปตรงนั้นตามที่ยายบอก

แวบแรกของความคิดคืออยากวิ่งไปซื้อมุ้งมาให้ยาย ได้คลุมรอบแคร่กันยุงไปก่อน แต่ก็ต้องพับเก็บไอเดียนี้ไป “ยายเคยนอนในมุ้งแแล้ว มีคนใจดีเอาให้ ยายนอนไม่หลับ มันอึดอัด”

ไอเดียต่อมาคือ งั้นเอาเรี่องเฉพาะหน้าก่อนละกัน เปลี่ยนจากเพิงเก่าๆ ล้อมรอบด้วยไวนิล และมีสังกะสีเป็นหลังคา ไม่มีหน้าต่าง กลางคืนก็เลยร้อน อยากหาขนำไม้ไผ่หลังคามุงจากมาให้ น่าจะช่วยให้กลางคืนนอนหลับได้ง่ายขึ้นแล้วยังไงสะ เพิงเก่านี้ก็คงผุพังไปในไม่กี่เดือนนี้อยู่แล้ว

ยายดูเกรงใจหลังจากเราลองบอกความคิดนี้ไป แต่สุดท้าย พี่ตา เพื่อนบ้านที่ดูแลยายมาตลอดช่วยกล่อมจนยายเห็นดีสมยอมไปกับเราด้วย เลยบอกว่ายายว่า แม้เราจะไม่รับปากว่าจะหามาให้ได้ในเร็ววัน แต่ก็จะพยายามให้ดีที่สุด

ก็เลยมาถึงคำถามครับ “ที่ไหนในหาดใหญ่ สงขลา ใกล้เคียง ขายลูกหนำอย่างในภาพบ้าง ที่ยายใช้ชีวิตอยู่ในหนำได้ ออกมานั่งหน้าชานระเบียงก็สะดวก เอามุ้งล้อมรอบขนำไปเลยก็ยังทำได้ แจ้งมาหน่อยครับ”

ผมไปตระเวนริมถนนลพบุรีราเมศวร์แล้ว ราคาอยู่ที่ 18,000-25,000 บาท ก็ยังรู้สึกว่าเกรงใจที่จะไปเรี่ยไรจากผู้ใจดี แม้ทางร้านทราบว่าเราจะเอาไปช่วยยาย ก็ยินดีลดให้เหลือ 15,000 บาท แต่ก็อยากหาตัวเลือกราคาที่ดีกว่า

ใครมีข้อมูล ชี้เป้ามาหน่อยนะครับ ส่วนใครสนใจร่วมสมทบทุน ทักมานะครับ ผมลงขันตั้งต้นไว้ก่อน 1,000 บาท อยากให้ยายเดือนได้นอนหลับสบาย โดยร่วมลงขันผ่านสมาคมอาสาสร้างสุข เนื่องจากยายไม่มีบัญชีธนาคารครับ เพราะว่าไม่มีบัตรประชาชนมาหลายปีแล้ว

และนี่คือจุดเริ่มต้นของการระดมทุนลงขันจนนำมาสู่บทความตอนที่ 2 สร้างหนำใหม่ให้ยายเดือน

"ยายเดือน ในหนำหลังใหม่"

นางปานเดือน เยาวยอด หรือยายเดือน อายุ 71 ปี อาศัยอยู่ตามลำพังในที่ดินริมทางรถไฟ หลังวิทยาลัยอาชีวศึกษามาหลายปีแล้ว

เดิมทีอยู่ในเพิงเก่า ล้อมรอบด้วยไวนิล หลังคาสังกะสี ในช่วงหน้าร้อนไม่สามารถอยู่ในเพิงได้เพราะอากาศร้อน ต้องออกมานอนบนแคร่ริมถนน สมาคมอาสาสร้างสุข จึงร่วมกับกลุ่มออมทรัพย์บ่อยาง จัดระดมทุนเพื่อซื้อขนำให้ยาย โดยมีผู้ร่วมบริจาคกว่า 60 คน รวมกว่า 38,000 บาท จนสามารถจัดซื้อขนำและจัดวางให้ในวันนี้ โดยการลงแรงของชาวบ้านช่วยกันยก (หนักมาก เข็ดเอวเลย 555)

โดยเงินที่เหลือ จะนำไปใช้สร้างห้องน้ำเล็ก ๆ ไว้ข้างขนำ และเป็นเงินออมไว้สำหรับค่ารักษาพยาบาล เนื่องจากยายทำบัตรประชาชนหายไปหลายปีแล้ว ยังไม่สามารถทำบัตรใหม่ได้เนื่องจากไม่มีเอกสารระบุตัวตน และไม่มีญาติสายตรง สำหรับอาหารการกินแต่ละวัน จะมีเพื่อนบ้านนำมาให้ หรือบางวันก็จะได้รับอาหารจากครัวกลางของชุมชน

ต้องขอบคุณทุกท่านมากครับที่ร่วมกันลงขันในภารกิจบุญในครั้งนี้ ผลบุญที่ได้ร่วมกันนี้ขอให้ท่านและครอบครัวมีความสุข สุขภาพแข็งแรง ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 นี้ไปด้วยกันเทอญ ปล. ขอบคุณพี่อ้น แหลมสนอ่อน และพี่ตา ที่ช่วยประสานงานครับ

นี่คือเรื่องราวเล็กๆ ที่เกิดจากหัวใจที่ยิ่งใหญ่ของหลายๆ คน ที่อยากเห้นสังคมไทย เป็นสังคมแห่งการแบ่งปัน สังคมสร้างสุข สามารถติดตามเรื่องราวดีๆ และความเคลื่อนไหวได้ที่เพจ ศูนย์อาสาสร้างสุข-ภาคใต้ www.facebook.com/arsa.society

"ตั้ม" นิพนธ์ รัตนาคม

ต้อม รัตภูมิ รายงาน 0897384215