คำถามนี้มีคำตอบ ตอบทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา


12 พ.ค. 2559

82.jpg

ถ่านหินมีโลหะหนักเป็นองค์ประกอบจะปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมและส่งผลต่อสุขภาพหรือไม
- ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโรงไฟฟ้าเทพา จังหวัดสงขลา ได้มีการกำหนดคุณสมบัติของถ่านหินที่จะนำมาใช้ ซึ่งเป็นถ่านหินคุณภาพดีนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้มีโลหะหนัก เจือปนอยู่ในปริมาณน้อยมาก
- มีระบบกำจัดสารเจือปนด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยจึงไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
- โรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดในลักษณะเดียวกันนี้ก็มีอยู่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นที่เยอรมนี ญี่ปุ่น หรือมาเลเซีย จึงพิสูจน์ได้ว่าไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

การสำรองถ่านหินไว้ใช้งานรวมถึงการขนส่งถ่านหินทางเรือและสายพานลำเลียงถ่านหิน จะทำให้น้ำผิวดินถูกปนเปื้อนจนไม่สามารถนำมาใช้งานได้จริงหรือไม่
- อาคารเก็บถ่านหินของโรงไฟฟ้าเทพาได้ออกแบบเป็นระบบปิดทั้งหมด การรดน้ำที่กองถ่านหินจะฉีดพรมเพียงเป็นฝอยปกคลุมในบางเวลาเท่านั้น เพื่อควบคุมฝุ่นและใช้น้ำในปริมาณไม่มากเพราะต้องควบคุมค่าความชื้นในถ่านหินไม่ให้เกินเกณฑ์ควบคุมคุณภาพเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม น้ำทิ้งที่เกิดขึ้นจะไม่มีการปนเปื้อนโลหะหนัก เนื่องจากโลหะหนักในถ่านหินจะละลายออกมาก็ต่อเมื่อถูกน้ำในสภาพความเป็นกรดชะละลายเท่านั้น แต่น้ำที่ใช้รดกองถ่านหินนำมาจากบ่อเก็บน้ำฝนซึ่งเป็นน้ำธรรมดา ไม่ใช่น้ำในสภาพความเป็นกรดแต่อย่างใด นอกจากนี้ พื้นของลานกองถ่านหินเป็นพื้นคอนกรีต ดังนั้น น้ำทิ้งจากลานกองถ่านหินจะไม่ซึมลงไปกระทบน้ำใต้ดิน โดยจะถูกรวบรวมไว้ที่บ่อตกตะกอนและนำกลับมาใช้ภายในโรงไฟฟ้าโดยไม่มีการปล่อยสู่ภายนอกจึงไม่มีผลกระทบต่อแหล่งน้ำผิวดิน
- สายพานลำเลียงถ่านหินซึ่งเป็นระบบปิดเช่นกัน จะไม่มีการฉีดพรมน้ำเพื่อลดอุณหภูมิ เนื่องจากถ่านหินมีการเคลื่อนตัวไปตามสายพานตลอดจึงไม่เกิดการสะสมความร้อน สำหรับในส่วนจุดเปลี่ยนถ่ายของสายพานลำเลียงถ่านหินจะติดตั้งอุปกรณ์เก็บกักฝุ่นถ่านหินแบบใช้ถุงกรองจึงไม่มีน้ำทิ้งเกิดขึ้นเช่นกัน
- เรือบรรทุกถ่านหิน โดยปกติจะมีระบบบำบัดน้ำเสียบนเรือและมีถังเก็บกักน้ำที่ผ่านการบำบัด แต่หากมีความจำเป็นที่จะต้องทิ้งน้ำเสีย ทางตัวแทนเจ้าของเรือจะติดต่อใช้บริการจากบริษัทที่ได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่ามารับน้ำเสียไปกำจัดต่อไป ในส่วนน้ำทิ้งจากเรือรับเชือกและเรือดัน/ลากจูง จะสูบน้ำขึ้นมาบำบัดบนฝั่งและนำกลับมาใช้ภายในโรงไฟฟ้าโดยไม่มีการปล่อยสู่ภายนอก

เถ้าที่เหลือจากการใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้ามีวิธีการจัดการไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างไร
- พื้นที่บ่อเก็บเถ้าหนักและเถ้าลอยที่ได้จากกระบวนการผลิตไฟฟ้าสามารถจัดเก็บเถ้าหนักและเถ้าลอยไว้ในพื้นที่กฟผ. ได้ทั้งหมดได้ออกแบบให้เพียงพอสำหรับจัดเก็บเถ้าหนักเปิดแนวทางเลือกเพื่อใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆเช่น การขายให้กับบริษัทเอกชนเพื่อใช้ผสมเป็นวัสดุก่อสร้าง
- บ่อเก็บเถ้าได้ออกแบบตามมาตรฐานการออกแบบพื้นที่หลุมฝังกลบ (Landfill) มีการดาดดินเหนียวและระบบปูพลาสติกรองพื้นกันซึม ซึ่งพลาสติกรองกันซึม(Hight-density polyethylene : HDPE) เป็นชนิดเดียวกับที่ใช้งานในระบบกำจัดขยะ และระบบกำจัดกากอุตสาหกรรม ผลิตจากเรซิ่น มีคุณสมบัติทนการกัดกร่อนจากกรดและน้ำเสียได้เป็นอย่างดี สามารถต้านทานสารเคมีและรังสีอุลตราไวโอเลต มีความหนาแน่นสูง ทำให้น้ำไม่สามารถแทรกซึมผ่านได้และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน นอกจากนั้นจะมีการปลูกต้นไม้โดยรอบบ่อเก็บเถ้าเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองเนื่องจากลมและช่วยบดบังสายตา
- เถ้าถ่านหินจากโรงไฟฟ้าต่างๆ ผ่านการทดสอบแล้ว พบว่ามีคุณสมบัติเป็นของเสียที่ไม่เป็นอันตราย(Non-hazardous Waste) ดังนั้น จึงไม่มีการปล่อยสารที่เป็นอันตรายออกสู่สิ่งแวดล้อม อาทิ โรงไฟฟ้าแม่เมาะจังหวัดลำปาง ทั้งนี้ กฟผ. มีแผนงานในการนำเถ้าลอยและเถ้าหนักไปใช้ประโยชน์อยู่แล้ว กล่าวคือ เถ้าลอยจะใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนปูนซีเมนต์ ส่วนเถ้าหนักจะใช้เป็นวัตถุดิบผลิตคอนกรีตบล๊อค ดังนั้น จะไม่มีปริมาณของเถ้าอยู่ที่โรงไฟฟ้ามากนัก

ร่วมตั้งคำถามและหาคำตอบเพิ่มเติมได้ที่ http://www.facebook.com/EGAT.PRD