ชวนคิดนโยบายนอกกรอบ … Work from Anywhere (บทความการเงิน)


1 มิ.ย. 2563

แทบไม่มีใครคิดมาก่อนว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสอย่างโควิด จนส่งผลมากถึงเพียงนี้ ทั้งผลกระทบทางสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม รวมถึงการใช้ชีวิตของประชาชน จนเราเห็นสื่อต่างพากันพาดหัวข่าวทุกวัน เช่น “ตื่นเช้ามาตกงานเฉย! ... โรงแรมเลิกจ้างกระทันหัน” “Work from Home คืออะไร ช่วยให้รอดจาก 'โควิด-19' ได้อย่างไร” การทำงานที่บ้าน หรือเรียกว่า Work from Home (WFH) เริ่มเป็นเรื่องที่หลายคนคุ้นชินและกระแสนี้จะยังคงอยู่ต่อไปไม่เฉพาะแค่ช่วงโควิดระบาด จากการสำรวจผู้บริหารระดับ CFO ทั่วโลก ราว 70% เห็นว่า บริษัทตัวเองมีบางตำแหน่งงานที่ WFH ได้ตลอดไป และมี 1 ใน 5 ของผู้ตอบแบบสำรวจที่เห็นว่าบริษัทตัวเองมีพนักงานถึง 20% ที่ WFH ได้ตลอดไป จึงน่าชวนคิดว่า เมื่อทำงานที่บ้านได้ขนาดนี้ แล้วไฉนเลยจะ Work from Anywhere ไม่ได้ ขอแค่คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตก็น่าจะเพียงพอ และไทยนี่แหละจะเป็นแหล่งรับ Work from Anywhere ชั้นยอด สร้างงาน สร้างรายได้ให้ประเทศในช่วงหลังโควิด


ทำไม Work from Anywhere จะเกิดขึ้น

ข้อแรก มีกลุ่มชาวต่างชาตินับล้านคนที่ทำงานแบบ Work from Anywhere ได้ ที่เห็นชัดคือ กลุ่มที่ทำงานแบบไร้ออฟฟิศ หรือ Digital Nomads [1] โดยในปี 2019 มีจำนวนสูงถึง 25 ล้านคน และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา บริษัท Twitter ก็อนุญาตให้พนักงานที่สมัครใจสามารถทำงานจากบ้านได้ตลอดไป ดังนั้น โลกหลังโควิด Work from Anywhere จะไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มอาชีพอิสระอีกต่อไป แต่ขยายไปถึงกลุ่มพนักงานประจำได้ด้วย ในอนาคตหลังโควิดหมดลง คนที่ทำงานที่ไหนก็ได้จะมีมากถึงหลักร้อย ๆ ล้านคนก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก

ข้อสอง พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่ชอบอิสระจะเป็นอีกปัจจัยในการผลักดันการทำงานแบบ Work from Anywhere จะดีต่อใจแค่ไหน ถ้านั่งทำงานที่ไหนก็ได้ พิมพ์งานชิล ๆ ริมชายหาด หรือตื่นมาประชุมยามเช้าพร้อมรับไอหมอกที่โฮมสเตย์บนภูเขา พนักงานมากถึง 48% รู้สึกการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่กว่า 60% มีสุขภาพจิต ดีขึ้นเมื่อทำงานนอกออฟฟิศ [2]

ข้อสาม สำหรับไทย โควิดอาจเป็นปัจจัยเร่งให้เกิด Work from Anywhere เพราะตอนนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยเลยสักคน กว่าที่ภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะต่างชาติจะกลับมาฟื้นเป็นปกติอาจใช้เวลาเป็นปี ๆ คำตอบเราตอนนี้ คือ ไทยเที่ยวไทย Work from Anywhere ของกลุ่มคนไทยจะช่วยให้ธุรกิจมีรายได้เข้ามาเร็วขึ้น แถมประเทศยังมีการลงทุนผ่านธุรกิจใหม่ อาทิ Co-working space ธุรกิจรถบ้าน VanLifers ทำให้คน ในพื้นที่มีงานทำ มีการใช้จ่ายกับร้านค้าท้องถิ่นเกิดเงินหมุนเวียนในชุมชน ยิ่งไปกว่านั้น บางจังหวัดของไทย เช่น เชียงใหม่ ก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ค่อนข้างพร้อมสำหรับ Work from Anywhere อยู่แล้ว

Work from Anywhere เกิดจริงได้ รัฐเอกชนสองแรงร่วมใจ

หากภาครัฐจับมือกับเอกชน ทั้งธุรกิจท่องเที่ยวและหน่วยงานที่พร้อมให้พนักงาน Work from Anywhere ร่วมจัดทำโครงการนำร่อง โดย

(1) ทำหนังโฆษณาโปรโมทใน Social Media ภายใต้แนวคิดทำงานแบบ “ไทยเท่” อยู่ที่ไหนในไทย ทั้งทะเล ภูเขา น้ำตก แม่น้ำ ทุ่งนา ป่าเขา ก็สามารถทำงานฟิน ๆ ได้

(2) ผู้ประกอบการเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกให้พร้อมสำหรับการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับคนกลุ่มนี้ที่ต้องทำงานบนโลกออนไลน์ พื้นที่ Co-working space และห้องประชุมกลุ่มย่อย

(3) รัฐมีแรงจูงใจสนับสนุนการลงทุน อาทิ ลดหย่อนภาษีสำหรับหน่วยงานที่มีการ Work from Anywhere เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือมาตรการทางภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่มีค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงสถานที่ และที่สำคัญ แม้หลายเมืองในไทยจะมีความพร้อมของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง [3] ทั้งยังมีปัจจัยบวกของเทคโนโลยี 5G ในอนาคตอันใกล้ แต่การเพิ่มประสิทธิภาพอินเทอร์เน็ต WiFi และกระจายให้ครอบคลุมพื้นที่สาธารณะอย่างทั่วถึงเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจมากขึ้น

(4) ผู้ประกอบการอาจจัดเป็นแพ็กเกจการขายห้องพักโดยทำสัญญาเช่าระยะยาวพร้อมพ่วงบริการอื่นของธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ฟิตเนส สปา ร้านอาหาร ให้กับคนกลุ่มนี้หรืออาจทำแพ็กเกจเสนอให้กับบริษัทที่สนใจ จะมีออฟฟิศชั่วคราวให้พนักงานบางส่วนมาพักผ่อนและทำงานได้อีกด้วย

(5) คำนึงถึงการกระจายรายได้เพื่อให้ผู้ประกอบการและชุมชนได้ประโยชน์อย่างทั่วถึง โดยออกแบบให้มีการ ไปเที่ยวและใช้จ่ายนอกเวลางานหรือวันหยุด ทั้งในจังหวัดเดียวกันและจังหวัดใกล้เคียง อาทิ มีไกด์คนท้องถิ่น โดยอาจทำเป็น Feature หนึ่งใน Platform ให้เป็น Travel Feature คือ ให้บริการทั้งเช่ารถและไปเที่ยวกับเราด้วย มี Voucher เงินสดหรือส่วนลดให้ หากไปเที่ยวหรือใช้จ่ายที่ร้านค้า/ร้านอาหารท้องถิ่น และอาจเชื่อมกับ Application อย่าง Local Alike หรือ Local Aroi ที่มีการนำเสนอการท่องเที่ยววิถีชุมชนอยู่แล้ว

Work from Anywhere เป็นเพียงตัวอย่างการคิดนโยบายนอกกรอบว่า ต้องทำ “อะไร” และ “อย่างไร” ที่จะช่วยบรรเทาความลำบากของธุรกิจ พนักงาน และคนในชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว นโยบายนี้สามารถทำได้เลยหากสถานการณ์โควิดในไทยและต่างประเทศคลี่คลาย บางพื้นที่ในไทยมีความพร้อมที่จะรองรับการทำงานรูปแบบนี้อยู่แล้ว ช่วงต้นรัฐอาจต้องสนับสนุนผ่านแรงจูงใจ แต่หากดีจริง จะสามารถกระจายตลาดนักท่องเที่ยวได้ในระยะยาว จนท้ายสุดรัฐจะสามารถถอนแรงจูงใจที่สนับสนุนออกได้ จึงกล่าวได้ว่า นโยบาย Work from Anywhere ทำได้เร็ว ทำได้ไว และสร้างความยั่งยืน

- ปลายปีก่อน -

“น่าจะทำงานหรือประชุมจากริมทะเลได้นะคะ เพราะงานทำที่ไหนก็ได้ แค่มีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต”

ทุกคนในทีมเงยหน้าขึ้น ยิ้ม หัวเราะ ในทำนองว่าเป็นไปไม่ได้

หากเป็นวันนี้ ปฏิกิริยาเหล่านั้นจะเปลี่ยนไปหรือไม่?

มาร่วมกันคิดนโยบายนอกกรอบ เราคนไทยจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน


บทความโดย นางสาวจิดาภา ช่วยพันธุ์ นายวริทธิ์นันท์ ชุมประเสริฐ นางสาวสุตาภัทร ม่วงนา ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย

อ้างอิง

[1] ปัจจุบัน เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ ประเทศไทย เป็นจุดหมายปลายทางอันดับ 2 และ 3 ของอาเซียน สำหรับกลุ่ม Digital Nomads รองจากบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย อ้างอิงจาก nomadlist.com

[2] บทความ Remote Work Trends and the Coronavirus: What Changes Are Coming? โดย ZenBusiness ทำการสำรวจพนักงานที่ทำงานนอกออฟฟิศจำนวน 1,035 คน

[3] ความเร็วอินเทอร์เน็ตของไทยเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ อ้างอิงจาก nationthailand.com

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคลซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย