​ปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่ เป็นธรรมและลดภาระของประชาชน (บทความการเงิน)


12 มิ.ย. 2563

การขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อซื้อสิ่งของต่างๆ ถือเป็นสิ่งปกติสามัญสำหรับทุกๆ คน แต่เมื่อนำสินเชื่อมาใช้แล้ว ก็จะมีภาระต้องผ่อนชำระเงินดังกล่าวคืนให้กับเจ้าหนี้ตามเงื่อนไขการชำระ ทั้งจำนวนเงิน และระยะเวลา หากผู้เป็นหนี้ไม่สามารถผ่อนชำระเงินคืนได้ตามเงื่อนไข ก็จะถูกดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้ลูกหนี้ต้องผ่อนชำระหนี้ให้ตรงเวลา ซึ่งหนึ่งในการกระตุ้นเตือนของธนาคารก็จะมีขั้นตอนที่เรียกว่าการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้

การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ จะเกิดขึ้นในกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ โดยเจ้าหนี้จะคิดดอกเบี้ยเพิ่มเติมจากการคิดดอกเบี้ยในงวดการชำระหนี้ปกติ และคำนวณจากเงินต้นคงเหลือจากการขอสินเชื่อทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. ขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านจำนวน 5 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขผ่อนชำระงวดละ 42,000 บาท (แบ่งชำระเป็นเงินต้นสินเชื่อ 10,000 บาท และ ดอกเบี้ย 32,000 บาท) เป็นระยะเวลา 20 ปี อัตราดอกเบี้ย 8% ต่อปี หากผิดนัดชำระจะคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัด 15% ต่อปี ปัจจุบัน นาย ก. ผ่อนชำระมาแล้ว 2 ปี (24 งวด) เหลือยอดสินเชื่อทั้งหมด 4,760,000 ล้านบาท สมมติว่านาย ก. ไม่สามารถชำระหนี้ได้ในงวดที่ 25 นาย ก. จะถูกคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระเพิ่มเติมอีก 7% เพิ่มเติมจากอัตราดอกเบี้ยที่ชำระปกติ โดยคำนวณได้ว่านาย ก. ต้องชำระเงินในงวดที่ 25 ดังนี้

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าหากผิดนัดชำระหนี้ นาย ก. จะต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มเติมที่สูงมาก ซึ่งการผิดนัดชำระหนี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับโรคระบาด COVID-19 ซึ่งหลายๆ คนก็มีรายได้ลดลงหรือขาดรายได้ เนื่องจากไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ หากผิดนัดชำระหนี้ในช่วงเวลานี้ และถูกคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เพิ่มจากการผ่อนชำระเดิม ก็เท่ากับเป็นการสร้างภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้กับผู้เป็นหนี้

ธนาคารแห่งประเทศไทยตระหนักถึงความเดือดร้อนและปัญหาต่างๆ ของประชาชน จึงได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จากเดิมคำนวณจากเงินต้นคงเหลือของยอดสินเชื่อ เป็นคำนวณจากยอดเงินต้นของค่างวดที่ผิดนัดชำระ ขอนำตัวอย่างของ นาย ก. อีกครั้ง โดยสมมุติให้นาย ก. ผิดนัดชำระหนี้เช่นเดิม แต่จะคำนวณด้วยการวิธีการใหม่ ดังนี้

จะเห็นได้ว่า การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระแบบใหม่จะมีจำนวนที่ต่ำกว่าคิดแบบเดิมเป็นอย่างมาก ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับกลุ่มลูกหนี้ที่กำลังประสบปัญหาได้อย่างมาก โดยสถาบันการเงินได้เริ่มใช้การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระแบบใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งครอบคลุมทั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อ SMEs และสินเชื่อบุคคล

อย่างไรก็ดี แม้การคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่จะลดจำนวนเงินที่ต้องชำระในกรณีที่ชำระไม่ตรงเงื่อนไขลงจากเดิมเป็นจำนวนมาก แต่ประวัติเครดิตบูโรก็จะยังคงบันทึกประวัติการชำระหนี้ของผู้เป็นหนี้ ว่ามีประวัติการชำระเงินที่ไม่ตรงตามเงื่อนไข ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาในอนาคต หากผู้เป็นหนี้ต้องการขอสินเชื่ออื่นๆ อีก ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นหรือประสบปัญหาร้ายแรงจริงๆ ก็ไม่ควรที่จะผิดนัดชำระหนี้ เพราะนอกจากจะทำให้ประวัติทางการเงินของตนเองไม่ดีแล้ว ยังเป็นการสร้างนิสัยทางการเงินที่ไม่ดีให้กับตนเองอีกด้วย

แหล่งที่มาของข้อมูล :

1. https://www.bot.or.th/Thai/FinancialInstitutions/C...

2. https://www.bot.or.th/Thai/FinancialInstitutions/C...

ผู้เขียน ธนิก พรเทวบัญชา ธนาคารแห่งประเทศไทย สํานักงานภาคใต้

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จําเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย