​ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกันยายน 2563


2 ต.ค. 2563

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความ เชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกันยายน เปรียบเทียบเดือน สิงหาคม และคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

ความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือน กรกฎาคม สิงหาคม และกันยายน 2563

ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ในเดือนกันยายน ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม แต่หากเปรียบเทียบกับดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเมื่อปีที่แล้วในเดือนกันยายน ซึ่งอยู่ที่ 47.90 นับว่ายังน้อยกว่ามาก อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเพราะราคายางพาราปรับตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี 2 เดือน โดยราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ปรับตัวสูงขึ้นที่ราคา 60.50 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ ราคายางมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเพราะความต้องการของตลาดโลกและประเทศจีนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น หลังเริ่มฟื้นฟูประเทศ ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมกระเตื้องขึ้น

อีกทั้งผู้บริโภคในจีนยังมีพฤติกรรมการหันมาใช้รถยนต์ส่วนบุคคลแทนรถโดยสารสาธารณะ เป็นผลให้ล้อยางจำหน่ายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นผลให้ราคายางพาราในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ในวันที่ 4-7 กันยายน 2563 เป็นวันหยุดชดเชยวันสงกรานต์ เพื่อส่งเสริมโครงการไทยเที่ยวไทย ทำให้การท่องเที่ยวในประเทศของประชาชนภาคใต้เพิ่มขึ้นประมาณ 20 % เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว สอดรับกับพฤติกรรมของคนไทยที่นิยมเที่ยวในวันหยุดยาว โดยส่วนใหญ่ใช้สิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งเป็นการช่วยลดต้นทุนในการท่องเที่ยวในประเทศของประชาชน โดยการท่องเที่ยวในประเทศในช่วงวันหยุดส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น รวมถึงกระจายไปสู่ภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และภาคธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ประชาชน และผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวต้องการให้ภาครัฐกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่อง

เมื่อพิจารณาถึงดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนที่ลดลดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกันยายนและไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น คือ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งประชาชนภาคใต้มองว่าเรื่องนี้เป็นจุดอ่อนของรัฐบาลประยุทธ์ โดยเฉพาะหลังจากทีมเศรษฐกิจของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และกลุ่ม 4 กุมารได้ลาออกไป เพราะถูกกดดันจากแกนนำของพรรคพลังประชารัฐ ที่ไม่ได้ผลประโยชน์เป็นที่พึงพอใจ ถึงแม้ว่านายกประยุทธ์จะเชิญคุณปรีดี ดาวฉาย เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ไม่มีอำนาจเต็มที่ แม้แต่จะแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงในกระทรวงการคลัง เพื่อให้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ก็ถูกกลุ่มการเมืองส่วนหนึ่งที่หวังผลประโยชน์ของตนและพวกพ้องมากกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติคอยขัดขวางและต่อต้าน ทำให้คุณปรีดี ดาวฉาย ต้องยื่นใบลาออก โดยประชาชนมองว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังคนใหม่ ถ้าจะอยู่ได้ยาวจะต้องเป็นนักประสานสิบทิศ ผูกมิตรกับทุกฝ่าย กระจายผลประโยชน์ให้อย่างเหมาะสม ประชาชนภาคใต้ฝากถามนายกประยุทธ์ว่า หากยังมีนักการเมืองที่เข้ามาเพื่อหาผลประโยชน์ แล้วเมื่อไรเศรษฐกิจไทยถึงจะดีขึ้น

จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไข และความคิดเห็นต่อมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ มีดังนี้

1. ประชาชนกังวลการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ตามแนวชายแดนไทย-พม่า หวาดผวาจะเกิดการระบาดระลอกสองในประเทศไทย เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศเมียนมาในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมามีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็นหลักหมื่นราย โดยพบผู้ติดเชื้อเพิ่มวันละประมาณเกือบพันราย และเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ แรงงานพม่าที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย ส่วนหนึ่งพยายามลักลอบเข้าประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกักตัว เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการกักตัวของไทยประมาณ 15,000 บาทต่อคน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของแรงงานพม่าที่ลักลอบเข้ามาในเส้นทางธรรมชาติ ภาครัฐควรมีแพคเกจราคาประหยัดสำหรับการกักตัวแรงงานพม่าเหล่านี้

2. รัฐบาลกำหนดโครงการ “คนละครึ่ง” จะเริ่มในวันที่ 23 ตุลาคม 2563โดยกระทรวงการคลังมีเป้าหมายที่จะรักษาระดับการบริโภคภายในระยะเวลา 3 เดือนนับจาก ต.ค.-ธ.ค.นี้ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของมาตรการนี้มีจำนวน 24 ล้านคน โครงการ "คนละครึ่ง" มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับฐานราก สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยโดยเฉพาะกลุ่มหาบเร่ แผงลอย เพื่อให้มีรายได้จากการขายสินค้าเพิ่มขึ้น โดยภาครัฐร่วมจ่ายค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป ผ่านฝ่ายของผู้ซื้อร้อยละ 50 โดยไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน นักวิชาการส่วนหนึ่งมองว่า นโยบายคนละครึ่ง ไม่ถึงมือรากหญ้า เนื่องจากผู้ประกอบการจำนวนมากในกลุ่มรากหญ้าไม่มีความรู้ ความเข้าใจ ในการลงทะเบียน และมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก จึงไม่ได้ลงทะเบียนดังกล่าว ทั้งนี้จึงขอเสนอแนะดังนี้

2.1 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดรถเคลื่อนที่เพื่อพบปะกับกลุ่มผู้ประกอบการรากหญ้าในชุมชนต่าง ๆ และดำเนินการลงทะเบียนให้ผู้ประกอบการ

2.2 หากวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับฐานราก ภาครัฐควรกำหนดให้สามารถใช้ได้เฉพาะผู้ประกอบการกลุ่มหาบเร่ แผงลอย และร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมเท่านั้น

2.3 โครงการ “คนละครึ่ง” มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้เงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจมากขึ้น แต่กำหนดให้ใช้ได้ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งประชาชนโดยส่วนใหญ่ต้องจ่ายเงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในแต่ละวันประมาณ 150 บาทขึ้นไปอยู่แล้ว ดังนั้นหากภาครัฐต้องการให้เงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจ และกระจายไปสู่กลุ่มผู้ประกอบการหาบเร่ แผงลอยมากขึ้น ควรเพิ่มวงเงินในการใช้ต่อวันให้มากขึ้น

3. ประชาชนที่หลากหลายแตกต่างกัน ทั้งในแต่ละช่วงอายุ ในแต่ละกลุ่มอาชีพ และในแต่ละพื้นที่ล้วนมีปัญหาที่แตกต่างกัน และมีความต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือที่ไม่เหมือนกัน แต่นโยบายของภาครัฐในการช่วยเหลือ กลับออกเป็นนโยบายหรือมาตรการที่เหมือนกันทั่วประเทศ ทั้งนี้ภาครัฐอาจจะฟังปัญหาจากประชาชนแค่เพียงบางกลุ่ม ซึ่งไม่ใช่ปัญหาของประชาชนในทุกภาคส่วนของประเทศ จึงเสนอแนะภาครัฐควรมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลของประชาชนทั้งประเทศ อาทิ ประชาชนในแต่ละอาชีพ ในแต่ละพื้นที่มีความเดือดร้อนแตกต่างกันอย่างไร ประชาชนแต่ละกลุ่มต้องการได้รับความช่วยเหลืออย่างไร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็น Big Data ที่สำคัญที่จะเป็นข้อมูลในการช่วยให้ภาครัฐนำมาประกอบการตัดสินใจแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

4. การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น และวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไม่สามารถผลิตออกมาได้เพียงพอต่อความต้องการของคนภายใน 1-2 ปีนี้อย่างแน่นอน ดังนั้นการเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวเต็มรูปแบบย่อมเป็นไม่ไปได้ ทั้งนี้ ภาครัฐควรสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบไทยเที่ยวไทย โดยกำหนดให้ “ไทยเที่ยวไทย” เป็นวาระแห่งชาติ โดยภาครัฐให้การส่งเสริมและสนับสนุนกับทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวทุกภาคส่วนสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่ต้องปลดพนักงาน โดยมีข้อเสนอแนะดังนี้

4.1 ภาครัฐร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจัดแคมเปญการท่องเที่ยวในประเทศในราคาพิเศษ โดยภาครัฐช่วยออกค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งในการท่องเที่ยว และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวลดราคาพิเศษ เพื่อให้แคมเปญดังกล่าวมีความน่าสนใจ และจัดแคมเปญการท่องเที่ยวในทุก ๆ เดือน

4.2 จากผลการสำรวจ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่นิยมท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาว ดังนั้นเพื่อให้ “ไทยเที่ยวไทย” เป็นวาระแห่งชาติที่มีประสิทธิภาพ ภาครัฐควรกำหนดนโยบายวันหยุดยาว 3-4 วันในแต่ละเดือนในปีพ.ศ.2564 โดยกำหนดเป็นปฏิทินประจำปี เพื่อให้ประชาชนสามารถวางแผนการท่องเที่ยวในประเทศได้อย่างเหมาะสม

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 32.80 และ 35.60 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 36.50 และ 34.10 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 35.40 30.30 และ 32.10 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 27.60 รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง และ ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ คิดเป็นร้อยละ 24.40 และ 15.20 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง ตามลำดับ