​พอเพียงอย่างไร...ในช่วงโควิด 19


11 พ.ย. 2563

พอเพียงอย่างไร...ในช่วงโควิด 19 โดย หทัยชนก อนันต์ทวีวัฒน์

เมื่อได้ยินคำว่า “พอเพียง” หลายคนมักจะนึกถึงภาพของการปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง พออยู่พอกิน ใช้เท่าที่เรามี รวมถึงความรู้สึกที่ว่าแค่นี้คงพอแล้ว ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่านี้ จนบางครั้งกลายเป็นอยู่ในสภาวะที่ไม่ต้องการความท้าทายใดๆ ขอใช้ชีวิตเพียงเท่านี้ ไม่อยากดิ้นรน ไม่อยากขวนขวาย เพียงเพราะคิดว่าน่าจะพอเพียงแล้ว วันนี้เราจะชวนมากะเทาะเปลือกว่าจริงๆ แล้ว ความพอเพียงตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร จะทำให้เราเข้าใจคำว่า “พอเพียง” มากยิ่งขึ้น เพราะหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อนแต่อย่างใดและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะช่วงโควิด 19 ที่ผ่านมา หลายคนได้เรียนรู้ว่าความพอเพียงและการมีเงินออมเผื่อเหตุการณ์ฉุกเฉินสามารถช่วยให้รอดพ้นช่วงเวลายากลำบากมาได้อย่างไร

“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสของความเปลี่ยนแปลงต่างๆ จนกลายมาเป็น เศรษฐกิจพอเพียง จนถึงทุกวันนี้

ที่ผ่านมาหลายท่านคงจะคุ้นเคยกับคำว่า 3 ห่วง 2 เงื่อนไข กันมาบ้าง ดังนั้น เรามาทำความรู้จักกรอบแนวคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกันให้มากขึ้นด้วยคำว่า “2 เงื่อนไข 3 หลักการ และ 4 มิติ”[1]

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีกรอบแนวคิดที่ต้องใช้ 2 เงื่อนไข ด้วยคุณธรรมนำความรู้ คือ การมีคุณธรรมเป็นพื้นฐานของจิตใจในการดำเนินชีวิตและมีความรู้ที่ถูกต้องและรอบคอบในการนำไปใช้ โดยคำนึงถึง 3 หลักการ ได้แก่ หนึ่ง...ความพอประมาณกับศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ มีความพอเหมาะพอควรสอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมและความเป็นจริง สอง...ความมีเหตุผล โดยรู้ว่าเราเลือกทำสิ่งนี้เพื่ออะไร และ สาม...การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี คือ ไม่ประมาทในการใช้ชีวิตพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น การจะทำอะไรก็ตามต้องคิดถึงความเสี่ยงและความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น คนในบ้านล้มป่วย เกิดอุบัติเหตุ และโดยเฉพาะในช่วงโควิด 19 ที่หลายคนอาจมีรายได้ลดลงหรือตกงานกะทันหัน จึงต้องเตรียมตนเองให้มีภูมิต้านทานที่จะคุ้มกันตัวเองได้ ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่มักขาดหลักการในข้อนี้หรือถ้ามีก็มีน้อย

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีหัวใจหลักที่สำคัญเพื่อมุ่งเน้นให้ทุกคนรู้จักพึ่งพาตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และเริ่มต้นพัฒนาจัดการตนเอง เมื่อได้นำคำสอนนี้ไปยึดถือปฏิบัติไม่ว่าด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นประจำจนกลายเป็นนิสัย คนนั้นจะมองเห็นคุณค่าของการแบ่งปัน ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น เห็นความสำคัญของการร่วมมือ ปรองดองกันในสังคม ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างสายใยเชื่อมโยงส่วนต่างๆ ของสังคมในการร่วมสร้างพลังบวกให้เกิดขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านวัตถุ เศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เหล่านี้ล้วนเป็นภาพสะท้อนของผลลัพธ์สูงสุดปลายทางของกรอบแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นั่นคือ การก่อเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมใน 4 มิติ ได้แก่ วัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม อย่างเป็นองค์รวม ถึงตรงนี้เรามาทดลองใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการตัดสินใจซื้อโทรศัพท์มือถือสักเครื่องกันดีกว่าว่าควรจะต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง

ดังนั้น ในการมุ่งมั่นตั้งใจทำสิ่งใดก็ตามด้วยการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะทำให้เราเกิดความก้าวหน้าและสมดุล เช่น การใช้จ่ายอย่างพอเพียง คำนึงถึงความจำเป็น ควรมีการแบ่งสัดส่วนของเงินใช้จ่าย การออมและการลงทุน มีการออมในระยะสั้นเผื่อเหตุฉุกเฉิน การออมในระยะยาวเพื่อการเกษียณ รวมถึงการทำประกันในรูปแบบต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมรับความเสี่ยง เป็นต้น ถ้าเราสมดุล เราจะก้าวต่อไปได้เรื่อยๆ นั่นคือ ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ชีวิตที่พอเพียง คือ ชีวิตที่ก้าวหน้าไปพร้อมกับความสมดุล...เริ่มวันนี้ที่ตัวเราด้วยการใช้ชีวิตพอเพียง


ผู้เขียน : หทัยชนก อนันต์ทวีวัฒน์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สํานักงานภาคใต้

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จําเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


[1] หลักสูตรการจัดการเงินตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ ดร. ปรียานุช ธรรมปรีชา ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์ และ ดร. ภริดา ภู่ศิริ