ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนพฤศจิกายน 2563


4 ธ.ค. 2563

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนพฤศจิกายน 2563

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนพฤศจิกายน เปรียบเทียบเดือนตุลาคม และคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนพฤศจิกายน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคมโดยดัชนีที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน การออมเงิน และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นเดือนนี้ นับว่าเป็นครั้งแรกในรอบปี 2563 เป็นเพราะโครงการ “คนละครึ่ง” ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีที่สุดในรอบ 6 ปีของรัฐบาลประยุทธ์ โดยเฉพาะในภาคใต้มีการจับจ่ายใช้สอยกับโครงการนี้เป็นอย่างมาก สอดคล้องกับข้อมูลจังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ กรุงเทพมหานคร สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่ ตามลำดับ

ทั้งนี้เพราะโครงการนี้ทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับฐานราก สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะกลุ่มหาบเร่ แผงลอยที่ประกอบอาชีพอยู่ในตัวเมืองทำให้มีรายได้จากการขายสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และเมื่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจดีขึ้นย่อมส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นด้านอื่น ๆ ดีขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ ยังมีโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับผลกระทบจากราคายางที่ตกต่ำมาเป็นระยะเวลายาวนาน ให้มีรายได้ที่แน่นอนขึ้น อย่างไรก็ตาม โครงการช่วยเหลือของภาครัฐในภาคส่วนต่าง ๆ นับว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ภาครัฐควรจัดหารายได้เข้ามาด้วย ไม่ใช่ใช้แต่การกู้เงินเพียงอย่างเดียว มิฉะนั้นจะทำให้หนี้สินของประเทศท่วมท้น จนเกิดปัญหาด้านอื่น ๆ ตามมา

ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชน ด้านภาระหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นเพราะผู้ประกอบการต่าง ๆ ต้องหยุดกิจการในช่วงล็อกดาวน์ทำให้เกิดมีหนี้สิน ประกอบกับผู้ประกอบการส่วนหนึ่งกู้เงินจากนอกระบบ ดอกเบี้ยสูง ส่งผลให้ภาระหนี้สินเพิ่มพูนสูงขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่ปรับตัวลดลง อาจเป็นเพราะความกังวลของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง การชุมนุมของคณะราษฎร 2563 ที่จะยกระดับการชุมชน และอาจจะประกาศชุมชนใหญ่พร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อแถลงจุดยืนและข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ซึ่งทำให้ประชาชนภาคใต้กลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยได้ออกมาเคลื่อนไหว และมีการต่อต้านการหาเสียงของผู้สมัครในการเลือกตั้ง อบจ. ที่มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้เข้ามาช่วยผู้สมัครในการหาเสียง จนเกิดเหตุการณ์วุ่นวาย ทำให้เกิดการแบ่งแยกประชาชนออกเป็น 2 ฝ่ายที่มีความคิดเห็นแตกต่าง หากเหตุการณ์บานปลาย อาจจะเกิดการปะทะกันได้

จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไข และความคิดเห็นต่อมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ มีดังนี้

1. ความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่พบผู้ป่วยเป็นหญิงไทย 1 คน เดินทางมาจากประเทศเมียนมา คาดว่าลักลอบเข้าประเทศทางแม่สาย จ.เชียงราย เดินทางต่อไปยังจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้กักตัวเองและเดินทางเที่ยว ห้างสรรพสินค้า และเข้าสถานบันเทิงซึ่งพบประชาชนกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อสัมผัสผู้ป่วยกว่า 326 คน ที่จะต้องตรวจยืนยันผลการติดเชื้อโควิด -19 อีกทั้งมีแรงงานพม่าส่วนหนึ่งที่เดินทางมาทำงานในภาคใต้

2. รัฐบาลไทยลงนามในสัญญาจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยการจองล่วงหน้าจากบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) บริษัทผู้ผลิตวัคซีนสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน จำนวน 26 ล้านโดส โดยมีบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด รับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน ซึ่งคาดว่าคนไทยจะมีวัคซีนโควิด-19 ใช้ในช่วงกลางปี 2564 ดังนั้น ภาครัฐควรมีแผนการบริหารจัดการที่เป็นระบบ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19ได้อย่างทั่วถึง

3. การลงทะเบียนครั้งแรกในเว็บไซต์ คนละครึ่ง และแอปพลิเคชัน เป๋าตัง ยังคงมีขั้นตอนที่ซับซ้อน ประชาชนส่วนหนึ่งขาดความเข้าใจในการใช้งาน รวมถึงผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มรากหญ้าในชนบทจำนวนมากไม่มีสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ภาครัฐควรจัดหาวิธีง่าย ๆ ให้การเข้าร่วม เช่น จัดทำเป็นบาร์โค้ดให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน

4. โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งมีส่วนลดค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พัก และมี E-Voucher แก่นักท่องเที่ยวนั้น พบว่า ในต่างจังหวัดมีผู้ประกอบการในชุมชนเข้าร่วมน้อยมาก ดังนั้นภาครัฐควรหาวิธีการให้ผู้ประกอบการในชุมชนเข้าร่วมมากขึ้น เพื่อกระจายเศรษฐกิจสู่ฐานราก รวมถึงให้ผู้ประกอบการร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งสามารถเข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกันได้โดยอัตโนมัติ อีกทั้ง ภาครัฐควรต่อโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 2 เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ จนกว่าจะมีการเปิดประเทศแบบเต็มรูปแบบ

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 34.10 และ 33.40 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 37.10 และ 32.10 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 30.30 , 35.60 และ 36.50 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 26.10 รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง และการเมือง คิดเป็นร้อยละ 21.30 และ 12.50 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง ตามลำดับ