ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการผ่าตัดรักษาโรคอ้วน รพ.สงขลานครินทร์ พร้อมยกระดับสู่มาตรฐานสากล


30 ธ.ค. 2563

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการผ่าตัดรักษาโรคอ้วน รพ.สงขลานครินทร์ พร้อมยกระดับสู่มาตรฐานสากล

ปัจจุบันผู้ป่วยโรคอ้วนในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในทุกปี ซึ่งโรคอ้วนยังนำไปสู่โรคเรื้อรังต่างๆ อาทิ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มะเร็ง ภาวะหายใจลำบากและหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งนำไปสู่สาเหตุของการเสียชีวิต

โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน โดยได้เริ่มให้การตรวจรักษาและทำการผ่าตัดผู้ป่วยโรคอ้วนมาเป็นเวลากว่า 8 ปี มีผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดแล้วกว่า 500 ราย แต่เนื่องด้วยผู้ป่วยมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทางโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จึงได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์การผ่าตัดรักษาโรคอ้วน พร้อมทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อให้การดูแล และตรวจรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนแบบครบวงจร ครอบคลุมทั่วทุกจังหวัดในภาคใต้

นายแพทย์กำธร ยลสุริยันวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมการผ่าตัดรักษาโรคอ้วนแบบครบวงจร รพ.สงขลานครินทร์ กล่าวว่า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการผ่าตัดรักษาโรคอ้วน โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ มีพันธกิจหลักในการส่งเสริม ป้องกัน และดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะโรคอ้วนผิดปกติ ประกอบด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย การใช้ยา และการผ่าตัดส่องกล้องร่วมด้วย อีกทั้งยังให้การดูแลรักษาภาวะแทรกซ้อนหรือโรคร่วมที่มีต้นเหตุจากความอ้วนแบบองค์รวมและครบวงจร มีเป้าหมายหลักเพื่อการรักษาโรค ฟื้นฟูสุขภาพของผู้ป่วยให้กลับมาใกล้เคียงปกติ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ใช่เพื่อความสวยงามแต่อย่างใด

ภาวะน้ำหนักเกิน และโรคอ้วนสามารถวัดได้จากการคำนวณค่าดัชนีมวลกาย หรือ Body Mass Index (BMI) หากมีค่าตั้งแต่ 25 ขึ้นไปตามเกณฑ์สากล นั่นคือ “น้ำหนักเกิน” และตั้งแต่ 30 ขึ้นไป คือ “อ้วน” หรือหากวัดด้วยความยาวเส้นรอบเอว ผู้ชายตั้งแต่ 90 ซม. และผู้หญิงตั้งแต่ 80 ซม. ขึ้นไป จะถือว่ามีภาวะ “อ้วนลงพุง” ซึ่งการรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์จะครอบคุลมตั้งแต่การให้คำปรึกษาจนถึงการผ่าตัด

“ผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำหนักเกินแต่ยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะได้รับการผ่าตัด ทาง รพ. จะให้คำแนะนำในเรื่องการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ถ้าผู้ป่วยมีภาวะน้ำหนักเกินมาก จะแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัด โดยจะมีการแนะนำในเรื่องของการผ่าตัด การปฎิบัติตัวทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด รวมทั้งการติดตามดูแลผู้ป่วยในระยะยาว” นายแพทย์กำธร กล่าว

สำหรับการผ่าตัดกระเพาะอาหารและลำไส้รักษาโรคอ้วนของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จะทำการผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง มี 3 วิธี ได้แก่ 1. การผ่าตัดลดกระเพาะอาหารแบบสลีฟ (sleeve) โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดกระเพาะอาหารออกประมาณ 80% ให้เหลือกระเพาะอาหารเป็นท่อคล้ายรูปกล้วยหอม การผ่าตัดวิธีนี้จะทำให้ความจุของกระเพาะลดลงอย่างมาก ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง จะรู้สึกแน่นและอิ่มเร็ว 2. การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารและลัดทางเดินอาหาร หรือที่หลายๆ คนรู้จักในชื่อว่า การผ่าตัดแบบบายพาส (bypass) การผ่าตัดแบบบายพาสนั้น แพทย์จะทำการผ่าตัดแยกกระเพาะอาหารส่วนต้นให้เป็นกระเปาะเล็กๆ และนำลำไส้เล็กส่วนต้นขึ้นมาต่อ วิธีนี้จะช่วยลดความจุของกระเพาะอาหารและลดการดูดซึมสารอาหารด้วย และ 3. การผ่าตัดแบบ SADIS หรือ single anastomosis duodenoileal bypass with sleeve gastrectomy เป็นการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารและลัดทางเดินอาหารคล้ายกับแบบบายพาส (bypass) แต่เทคนิคการผ่าตัดจะแตกต่างกัน โดยแพทย์จะรวมเทคนิคการผ่าตัดแบบสลีฟ (sleeve) และแบบบายพาส (bypass) เข้าด้วยกัน

ทั้งนี้ หลังจากผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัด ทางโรงพยาบาลจะมีกระบวนการติดตามผู้ป่วยในระยะยาว โดยการติดตามอาการครั้งแรกจะนัดหนึ่งหรือสองสัปดาห์หลังผ่าตัด และจะติดตามในความถี่ที่น้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป (โดยจะนัดทุก 3 เดือน ถึง 1 ปีครึ่ง และทุก 6 เดือน จนถึง 5 ปี หลังจากนั้นอาจนัดทุก 1 - 2 ปี)

นายแพทย์กำธร กล่าวว่า ผลตอบรับตั้งแต่ทำการรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนถือว่าดีมาก คนไข้น้ำหนักลดลงค่อนข้างดี โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30% ของน้ำหนักตั้งต้น ซึ่งคุณภาพชีวิตของคนไข้หลังจากได้รับการผ่าตัดดีขึ้นมาก สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น ช่วยเหลือตัวเองและครอบครัวได้ อีกทั้งโรคร่วมที่เป็นอยู่มีอาการดีขึ้นตามไปด้วย

ตลอดระยะเวลาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้ทำการรักษาและผ่าตัดผู้ป่วยโรคอ้วน จนถึงปัจจุบันที่มีการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการผ่าตัดรักษาโรคอ้วนแบบครบวงจร โดยยึดหลักปรัชญาชี้นำ "ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นที่หนึ่ง” พร้อมตั้งเป้าเป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านการผ่าตัดรักษาโรคอ้วน (Center of Excellence : COE) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการยื่นขอการรับรองมาตรฐานระดับสากล โดยสถาบันจากต่างประเทศ เพื่อเป็นการยกระดับการรักษาผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม โรคอ้วนเป็นพฤติกรรมที่จะอยู่ติดตัวผู้ป่วยไปตลอดชีวิต ผู้ป่วยต้องมีการควบคุมอาหาร ออกกำลังกายที่ถูกต้อง เหมาะสม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี และไม่กลับเข้าสู่ภาวะโรคอ้วนอีกครั้ง

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการผ่าตัดรักษาโรคอ้วน โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เปิดให้บริการทุกวันพุธ โทร. 06-2580-1122, 0-7445-1760 ถึง 1 Facebook : ศูนย์การผ่าตัดรักษาโรคอ้วน โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ www.facebook.com/Songklanagarind.Obesity.Center Website : https://secoms.medicine.psu.ac.th Line : ศูนย์โรคอ้วน รพ.ม.อ. หรือ ค้นหาเพื่อนด้วยหมายเลขโทรศัพท์ 625801122