​ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนมกราคม 2564


3 ก.พ. 2564

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

ผลสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนมกราคม 2564 เปรียบเทียบ เดือนธันวาคม 2563 และคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

ความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ เปรียบเทียบเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม 2563 กับ มกราคม 2564

ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนมกราคม 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมปรับตัวลดลง โดยดัชนีที่ปรับตัวลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม และพฤศจิกายน 2563 ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) การออมเงิน และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยปัจจัยลบมาจากหลายปัจจัย ได้แก่ สถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และคลื่นลมแรงในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ยะลา นราธิวาส และปัตตานี รวม 27 อำเภอ 145 ตำบล 769 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 37,317 ครัวเรือน ส่งผลให้สินค้าทางการเกษตรได้รับความเสียหาย รวมถึงสถานการณ์ยางพาราที่เกิดโรคระบาดใบร่วงในหลายจังหวัดภาคใต้ ทำให้ผลผลิตลดลง ซึ่งส่งผลต่อรายได้เกษตรกรลดลงตามไปด้วย อีกทั้งประเทศจีนมีแผนที่จะหยุดซื้อยางพาราเข้า สต๊อกในช่วงเดือนมกราคมจนถึงวันตรุษจีน ทำให้ราคายางพาราลดลง ประกอบกับการแพร่ระบาดของโควิค-19 ระลอกใหม่ซึ่งส่งผลกระทบเป็นห่วงโซ่ในทางลบต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยการดำเนินธุรกิจหลายภาคส่วนต้องชะลอหรือหยุดชะงักไป ทั้งภาคการผลิต การบริการ การค้าปลีก และการท่องเที่ยว รวมถึงหาบเร่ แผงลอย ล้วนได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยประชาชนส่วนหนึ่งมองว่า มีแต่ข้าราชการ และนักการเมืองเท่านั้นที่ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะบุคคลเหล่านี้ยังได้รับเงินเดือน และได้ขึ้นเงินเดือนปกติ ซึ่งเงินดังกล่าวล้วนเป็นเงินจากภาษีของประชาชนแทบทั้งสิ้น โดยประชาชนส่วนหนึ่งมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ต้นเหตุมาจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐ

สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิค-19 เกิดขึ้นเนื่องจากแรงงานต่างด้าวที่มีเชื้อโควิด-19 ได้ลักลอบเข้าประเทศแบบผิดกฎหมายเพื่อเข้ามาทำงานที่จังหวัดสมุทรสาครและได้นำเชื้อโควิด-19 แพร่กระจายไปในจังหวัดและภูมิภาคอื่นบ้างเล็กน้อย หากแต่ยังสามารถที่จะควบคุมได้ ประกอบกับได้มีการลักลอบเปิดบ่อนการพนันในจังหวัดระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด และอีกหลายจังหวัด ซึ่งเป็นแหล่งแพร่กระจายโควิด-19 ไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย รวม 56 จังหวัด ทำให้การควบคุมเป็นไปได้ยาก โดยมียอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยมียอดผู้ป่วยสะสมมากกว่า 18,000 คน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นประชาชนมองว่า มาจากการทำงานที่ปล่อยปละละเลยของภาครัฐ และระบบราชการแบบดั้งเดิมที่หากินกับส่วย และผลประโยชน์จากธุรกิจผิดกฎหมาย แต่ประชาชนต้องมารับเคราะห์ในสิ่งที่ภาครัฐเป็นผู้ก่อขึ้นแทบทั้งสิ้น โดยประชาชนส่วนหนึ่งตั้งคำถามว่า พลเอกประยุทธ์เข้ามาบริหารประเทศโดยมีเป้าหมายเพื่อปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะระบบราชการ แต่ผ่านมา 7 ปี ได้ปฏิรูปอะไรบ้าง ทั้งนี้ ประชาชนส่วนหนึ่งกล่าวว่า ขอให้เวลาที่เหลือ คงยังไม่สายเกินไป หากพลเอกประยุทธ์จะปฏิรูปการเมืองไทย และระบบราชการไทย ให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และกำหนดบทลงโทษข้าราชการที่กระทำผิด โดยต้องไล่ออก และดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ไม่ใช่เพียงแค่ย้าย และค่อยกลับมาใหม่เมื่อเรื่องเงียบ โดยประชาชนภาคใต้ส่วนหนึ่งมองว่าโดยส่วนตัวแล้ว พลเอกประยุทธ์เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์ รักชาติ และมีความตั้งใจที่ดีในการเข้ามาช่วยขับเคลื่อนประเทศให้หลุดพ้นจากพวกนักการเมืองโกงชาติ และทำให้ประชาชนมีความสุข โดยประชาชนส่วนหนึ่งเชื่อว่าพลเอกประยุทธ์มีบารมีเพียงพอที่จะปรับเปลี่ยนประเทศไปในทิศทางที่ดีได้ หากกล้าตัดสินใจเด็ดขาด โดยไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ของพวกพ้อง

จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไข และความคิดเห็นต่อมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ มีดังนี้

1. ภาครัฐควรเข้มงวดในการเฝ้าระวังการลักลอบเข้าประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย เนื่องจากประเทศมาเลเซียซึ่งมีพื้นที่ติดกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย มีสถานการณ์โควิค-19 ถึงขั้นวิกฤตต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 ส่งผลให้แรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในมาเลเซียส่วนใหญ่ต้องตกงาน ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ จนต้องหาวิธีหลบหนีข้ามพรมแดนเข้ามายังประเทศไทย

2. ประชาชนภาคใต้เสนอว่า ภาครัฐควรมีโครงการคนละครึ่ง เฟส3 เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ และทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนรากหญ้าได้จำนวนมาก โดยประชาชนมองว่า การใช้เงินภาษีของประชาชน หรือเงินกู้จากต่างประเทศกับโครงการคนละครึ่ง ทำให้ประโยชน์ตกถึงมือประชาชนอย่างแท้จริง แต่หากนำเงินไปดำเนินโครงการต่าง ๆ ผ่านหน่วยงานภาครัฐ ผลประโยชน์อาจจะไม่ตกถึงประชาชน แต่จะไปตกอยู่กับกลุ่มพวกพ้อง และกลุ่มผลประโยชน์ของนักการเมือง และข้าราชการเท่านั้น

3. จากปัญหาโครงการช่วยเหลือของภาครัฐที่ไม่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่มีสมาร์ทโฟน และประชาชนที่เป็นชาวบ้านที่มีสมาร์ทโฟนก็ไม่สามารถใช้งานได้อย่างถูกต้อง ทำให้เสียโอกาสในการได้รับสิทธิ์ต่าง ๆ ทั้งนี้ นักวิชาการส่วนหนึ่งได้เสนอว่า ภาครัฐควรนำบัตรประชาชน ซึ่งเป็นบัตรสมาร์ทการ์ด และสามารถบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ของประชาชนได้อย่างมากมาย มีคุณสมบัติเทียบเท่าบัตรเครดิต และบัตรเดบิตของธนาคาร จึงเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ควรพัฒนาบัตรประชาชนที่เป็นบัตรสมาร์ทการ์ด ให้สามารถใช้เป็นบัตรในการรับสิทธิ์ต่าง ๆ ของภาครัฐได้ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนละครึ่ง บัตรเราเที่ยวด้วยกัน บัตรเราชนะ ใบขับขี่ และบัตรอีวอลเล็ต เป็นต้น

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 34.70 และ 32.80 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 39.70 และ 33.50 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 36.80 , 34.60 และ 32.10 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 28.50 รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง และการเมือง คิดเป็นร้อยละ 25.60 และ 12.80 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง ตามลำดับ