ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกุมภาพันธ์ 2564


6 มี.ค. 2564

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือน กุมภาพันธ์ เปรียบเทียบเดือนมกราคม และคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเดือนกุมภาพันธ์ 2564 (42.60) ปรับตัวลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2563 (43.40) แต่หากเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2564 ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยดัชนีที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมรายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) การออมเงิน ค่าครองชีพ ภาระหนี้สิน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยปัจจัยบวกมาจากหลายปัจจัย ดังนี้

1. ราคาผลผลิตการเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น อาทิ ยางพารา (60- 65 บาทต่อกิโลกรัม ) และปาล์มน้ำมัน (5-7 บาทต่อกิโลกรัม) และมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงเกิดภัยแล้งในหลายจังหวัดภาคใต้ ทำให้ผลผลิตการเกษตรลดลง ประกอบกับสถาวะการตลาดที่มีความต้องการซื้อเพิ่มมากขึ้น จึงส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นและมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง

2. สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย มีจำนวนผู้ป่วยลดลงและสามารถควบคุมการระบาดในพื้นที่จำกัดได้ ทำให้สถานประกอบการธุรกิจและบริการในพื้นที่เสี่ยงเริ่มกลับมาเปิดดำเนินธุรกิจเป็นปกติ อีกทั้ง รัฐบาลได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ล็อตแรก จำนวน 2 ล้านโดส ซึ่งจะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข อสม. เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย ประชาชนที่มีอายุ 18-59 ปี ที่มีโรคประจำตัว ในพื้นที่ 18 จังหวัดตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2564

3. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ อาทิ คนละครึ่ง เราชนะ เรารักกัน ลดค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้า-ค่าเน็ต ลดเงินสมทบประกันสังคม พักเงินต้น-ยืดหนี้-ลดดอก และการปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลนให้กับเอสเอ็มอี เป็นต้น ถึงแม้ว่าโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐที่ดำเนินการจะพบปัญหาต่าง ๆ มากมาย และมีช่องโหว่ เกิดการทุจริตหลากหลายวิธี ซึ่งภาครัฐก็ไม่สามารถควบคุมได้ หากแต่โครงการต่าง ๆ เหล่านี้ก็สามารถช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้บ้าง

4. ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นวันตรุษจีน และเป็นวันหยุดยาวทำให้คนไทยเชื้อสายจีนจำนวนมาก

มีการจับจ่ายใช้สอยทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค รวมถึงการซื้อของเพื่อนำไปไหว้บรรพบุรุษ และเลี้ยงฉลองกันภายในครอบครัว อีกทั้ง ความต้องการของประชาชนที่ไม่ได้ฉลองในช่วงปีใหม่ ได้ปลดปล่อยออกมาหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวและการบริโภคเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในช่วงขาลง จำเป็นต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว และยังต้องพึ่งพาเศรษฐกิจโลก โดยปัจจัยบวกที่เป็นแนวโน้มในทางที่ดีในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย มีดังนี้

1. จำนวนผู้ป่วยใหม่ทั่วโลกลดลงอย่างชัดเจน จากเดิมวันละประมาณ 6-7 แสนคน ปัจจุบันเหลือวันละ 3-4 แสนคน ในขณะที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ลดลงเช่นกัน

2. รัฐบาลไทยมีแผนจะเปิด Vaccine Passport เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะไม่ส่งผลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ และประชาชนคนไทยเกิดความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น อีกทั้ง เงินตราต่างประเทศที่เข้ามาจะหมุนเวียนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศไทยให้ดีขึ้น

3. เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความต้องการสินค้าส่งออกของไทยเพิ่มขึ้น

4. การเบิกจ่ายมาตรการรัฐที่ได้ประกาศไว้ ทั้ง พรบ. งบประมาณปกติ และ พรก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งหากนำไปดำเนินโครงการที่ประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรง โดยไม่ไปผ่านโครงการของหน่วยงานภาครัฐที่จัดขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของพรรคพวกและเครือญาติ ย่อมสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างแน่นอน

5. การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ โดยการสร้างพันธมิตรกับนานาประเทศรวมถึงการขอยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าต่าง ๆ จะทำให้การส่งออกของไทยสามารถขยายตัวไปได้อย่างก้าวกระโดด

6. การดูแลและรักษาบรรยากาศทางการเมืองให้เกิดความสงบเรียบร้อย การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย จะทำให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศมีความเชื่อมั่นสูงขึ้น

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 35.70 และ 30.50 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 33.50 และ 32.10 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 27.90 , 34.90 และ 32.80 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 26.40 รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ คิดเป็นร้อยละ 21.10 และ 18.70 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง ตามลำดับ