​ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนเมษายน 2564


1 พ.ค. 2564


ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความ เชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนเมษายน เปรียบเทียบ เดือนมีนาคม และคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนเมษายน 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเดือนเมษายน (41.70) ปรับตัวลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม (42.10) โดยดัชนีที่มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) การออมเงิน ค่าครองชีพ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยปัจจัยลบที่สำคัญมาจากสถานการณ์โควิด-19 เดือนเมษายน ซึ่งได้กลับมารุนแรงกว่าในระลอกก่อนหน้านี้ โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันทั่วประเทศเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับหลักพันคนต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน โดยศูนย์กลางการระบาดในระลอก 3 นี้มาจากสถานบันเทิงในกรุงเทพฯ และกระจายไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดสงกรานต์ประชาชนได้เดินทางท่องเที่ยวและเดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งในขณะนั้นภาครัฐไม่ได้มีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดมากนัก ส่งผลให้เกิดการแพร่เชื้อโควิด-19 ไปสู่คนในทุกสาขาอาชีพ

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ทำให้ประชาชนมีความคิดเห็นที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่มองว่าภาครัฐซึ่งนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นากยกรัฐมนตรี มีความสามารถในการบริหารจัดการและแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีเป็นที่ยอมรับของคนไทยและนานาประเทศ แต่ในขณะนี้กลับมองว่า ภาครัฐไม่ได้เก่งอย่างที่คิด มุ่งเน้นแต่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และขาดมาตรการการป้องกันที่ดี ไม่ศึกษาบทเรียนที่เกิดขึ้นจากต่างประเทศ รวมถึงปล่อยให้ข้าราชการตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครองบางกลุ่มแอบรับส่วย และสินบนจากการลักลอบเปิดบ่อนการพนัน การลักลอบเข้าประเทศ การเปิดสถานบันเทิงโดยขาดมาตรการป้องกันที่ปลอดภัย ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 นี้นับว่ารุนแรงที่สุด และทำให้เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำถึงขีดสุด ส่งผลต่อการขาดรายได้ และหนี้ที่เพิ่มขึ้นของประชาชนและภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก

จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไข และความคิดเห็นต่อมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ มีดังนี้

1. รัฐบาลควรจะต้องเร่งออกมาตรการเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคธุรกิจและภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะความชัดเจนในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค เพราะหากปล่อยให้สถานการณ์แพร่ระบาดยืดเยื้อเนิ่นนานออกไป ไม่เพียงกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของธุรกิจ และการบริโภคภาคครัวเรือนเท่านั้น แต่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปีนี้ที่จะเป็นความหวังในการช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย และขยายต่อเนื่องไปยังปีหน้าอีกด้วย

2. การเร่งปูพรมกระจายฉีดวัคซีนเป็นภารกิจเร่งด่วน เนื่องจากระบบสาธารณสุขไทยมีขีดจำกัดในการรองรับผู้ติดเชื้อ หากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังอยู่ในระดับสูงมากกว่าพันคนอย่างต่อเนื่องเป็นเดือน ๆ อาจเกิดภาวะระบบสาธารณสุขล่ม ซึ่งในปัจจุบันก็เริ่มเห็นหลายโรงพยาบาลเผชิญกับปัญหาเตียงผู้ป่วยเต็ม และขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้เป็นปกติเหมือนเมื่อก่อน ทำให้เกิดสภาวะผู้ป่วยตกค้าง ไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้ ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันบูรณาการข้อมูลซึ่งกัน แบบ one stop service เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

3. ต้นเหตุของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งแรกมาจากสนามมวยและสถานบันเทิง ส่วนการระบาดในระลอก 2 มาจากบ่อนการพนัน และสถานบันเทิง และในระลอก 3 ที่แพร่ระบาดมากที่สุด ก็มาจากสถานบันเทิง ทำให้เกิดการแพร่กระจายไปยังแหล่งชุมชนอื่น และคนในครอบครัว โดยประชาชนมองว่าภาครัฐแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำลงไปอีก ซึ่งหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้แล้ว ขอให้พลเอกประยุทธ์ออกคำสั่งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปิดสถานบันเทิง พับ เธค บาร์ คาราโอเกะ และสถานการณ์บริการที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 เพื่อให้ธุรกิจอื่น ๆ ดำเนินต่อไปได้ จนกว่าประชาชนจะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครอบคลุมทั้งประเทศ

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 37.10 และ 34.70 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 32.80 และ 39.70 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 34.60 , 33.50 และ 27.10 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ราคาสินค้า คิดเป็นร้อยละ 29.30 รองลงมา คือ ค่าครองชีพ และราคาพืชผลทางการเกษตร คิดเป็นร้อยละ 25.20 และ 13.40 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ราคาสินค้า