​สคร.12 สงขลา เน้นย้ำ ปชช. ภาคใต้ตอนล่าง ทำความรู้จักโรคเมลิออยโดสิส เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต


13 ส.ค. 2564

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เน้นย้ำประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ทำความรู้จักโรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis) เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต แนะเลี่ยงสัมผัสดินและน้ำ เมื่อมีบาดแผล หากมีอาการไข้นานเกิน 5 วัน ให้รีบไปพบแพทย์


โรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เบอร์โคเดอเรีย สูโดมัลลิอาย (Burkholderia pseudomallei) ซึ่งพบได้ทั่วไปในดินและน้ำ นาข้าว ท้องไร่ แปลงผัก สวนยาง ทั่วทุกภาคในประเทศไทย พบมากในช่วงฤดูฝน (ตุลาคม – ธันวาคม) โดยผู้ป่วยมักรับเชื้อที่อยู่ในดินและน้ำ สามารถติดต่อได้ 3 ทาง คือ 1.ผ่านทางบาดแผลบนผิวหนัง 2.หายใจเอาฝุ่นจากดินหรือน้ำที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป 3.ดื่มหรือกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป และพบว่าระยะฟักตัวของเชื้อ คือ 1-21 วัน บางรายอาจนานเป็นปี ผู้ป่วยมักมีอาการไข้เป็นเวลานานโดยไม่ทราบสาเหตุ มีเนื้อตาย แผล ฝี หนองที่ปอด ตับ ม้าม แผลอักเสบเรื้อรัง อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดโดยผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้ส่วนใหญ่ คือ ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องสัมผัสดินและน้ำโดยตรง เช่น เกษตรกรและประมง โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง โรคเบาหวาน หรือโรคติดสุราเรื้อรัง ผู้ติดเชื้อจะมี อาการหลากหลายจนถึงไม่มีอาการ คล้ายป่วยเป็นไข้ บางรายมีอาการคล้ายวัณโรค อาการสำคัญคือ ติดเชื้อใน กระแสเลือดทั้งแบบเฉียบพลัน และเรื้อรัง

นายแพทย์เฉลิมพลโอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึงสถานการณ์โรคเมลิออยโดสิส ในเขตสุขภาพที่ 12 ข้อมูลจาก รง.506 กองระบาดวิทยา ระหว่างวันที่1 มกราคม 2564ถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2564 พบผู้ป่วยโรคเมลิออยโดสิส จำนวนทั้งสิ้น 12 ราย เสียชีวิต 1 ราย (จังหวัดสงขลา) สูงสุดในจังหวัดพัทลุง จำนวน 7 ราย, จังหวัดสงขลา จำนวน 4 ราย และจังหวัดปัตตานี จำนวน 1 ราย พบผู้ป่วยเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยพบเพศชาย 8 ราย เพศหญิง 4 ราย กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ 55 - 64 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 65 ปี ขึ้นไป และกลุ่มอายุ 25 - 34 ปี อาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ อาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 50 รองลงมาคือ อาชีพงานบ้าน และอาชีพรับจ้าง ร้อยละ 16.67

และ จากการสำรวจข้อมูลความรู้และพฤติกรรมของผู้ป่วยคลินิกโรคเบาหวานของโรงพยาบาลในจังหวัดสงขลา (6 โรงพยาบาล) จำนวน 144 คน ช่วงเดือนธันวาคม 2563 พบว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานทุกคนที่ตอบแบบสำรวจ ไม่เคยได้ยินชื่อโรคเมลิออยโดสิสและไม่รับรู้ถึงโอกาสเสี่ยง ความรุนแรงของโรคเมลิออยโดสิส เช่น ร้อยละ 90.28 ไม่ทราบว่าโรคเมลิออยโดสิส ถ้าป่วยทำให้เสียชีวิตได้, ร้อยละ 77.78 ไม่ทราบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวาน อาการของโรคมีความรุนแรงกว่าคนปกติ ส่วนด้านการปฏิบัติตัว พบว่ามีการปฏิบัติตัวถูกต้องค่อนข้างต่ำ เช่น ขณะทำงานหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับดิน ไม่สวมถุงมือ ร้อยละ 43.75, ไม่ใช้ผ้าปิดจมูก ขณะทำงานหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับดิน ร้อยละ 47.22

สคร.12 สงขลา ขอแนะนำวิธีการป้องกันโรคเมลิออยโดสิส ได้แก่ 1.ผู้ที่มีบาดแผลให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากจำเป็นขอให้สวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาวหรือชุดลุยน้ำและรีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและสบู่ 2.หากมีบาดแผลที่ผิวหนัง ควรรีบทำความสะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำจนกว่าแผลจะแห้งสนิท 3.ทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำต้มสุก 4.หลีกเลี่ยงการสัมผัสลมฝุ่น และการอยู่ท่ามกลางสายฝน หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422