31 พ.ค.วันงดสูบบุหรี่โลก สคร. 12 สงขลา รณรงค์ ซองบุหรี่แบบเรียบ ลดภัยเงียบ ลดโรค


31 พ.ค. 2559

ในโอกาสวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม ประจำปี 2559 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา (สคร. 12) ร่วมสนับสนุนนโยบายกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ภายใต้คำขวัญ "ซองบุหรี่แบบเรียบ ลดภัยเงียบ ลดโรค” ปรามธุรกิจยาสูบผลิตหีบห่อบุหรี่แบบมีสีสัน เตือนผู้บริโภครู้เท่าทันการตลาด

tobacco_banner.jpg

ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า การรณรงค์ให้ประชาชนงดสูบบุหรี่เป็นเรื่องที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญเป็นอย่างมากมาโดยตลอด ซึ่งในปีนี้ได้กำหนดคำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลกไว้ว่า “ซองบุหรี่แบบเรียบ ลดภัยเงียบ ลดโรค” ซองบุหรี่แบบเรียบนั้นหมายถึงบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ยาสูบที่มีรูปแบบและลักษณะหีบห่อที่ปราศจากสีสันสวยงามและสิ่งที่ชักจูงใจต่อผู้ที่พบเห็น นับเป็นมาตรการป้องปรามธุรกิจยาสูบ ไม่ให้ใช้หีบห่อและซองของบุหรี่เป็นพื้นที่ทำการตลาด ส่งเสริมการขาย ด้วยการแสดงสีสัน ลวดลายส่วยงามเพื่อกลบเกลื่อนความเด่นชัดของภาพคำเตือนพิษภัยจากการบริโภคยาสูบ ซึ่งอาจส่งผลทำให้ประชาชนบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบมากขึ้น

 บุหรี่มีสารประกอบต่างๆอยู่ประมาณ 4,000 ชนิด มีสารก่อมะเร็งไม่น้อยกว่า 42 ชนิด ผู้สูบบุหรี่และผู้รับควันบุหรี่มือสองจะได้รับผลเสีย เริ่มตั้งแต่การมีผมขาวก่อนวัยอันควร เกิดการอักเสบของหูชั้นกลาง เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงมือ ขาและเท้าน้อย ทำให้มือและเท้าเย็น เป็นโรคผิวหนัง ประสิทธิภาพการมองเห็นลดลง เกิดมะเร็งโพรงจมูก มะเร็งช่องปาก ลำคอ กล่องเสียง กระดูกพรุน แตกร้าวง่าย โรคหลอดเลือดในสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เส้นเลือดตีบและอุดตัน โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งตับ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และไต เป็นหมัน หมดสมรรถภาพทางเพศ มะเร็งปากมดลูก มีภาวะมีบุตรยาก รวมถึงมีโอกาสแท้งบุตรสูงขึ้น ซึ่งการสูบบุหรี่นอกจากจะมีผลต่อผู้สูบโดยตรงแล้ว ยังทำให้ผู้อื่นที่สูดเอาควันบุหรี่เข้าไปเกิดอันตรายเช่นเดียวกันด้วย

ดร.นพ.สุวิช ธรรมปาโล  กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาการสูบบุหรี่ ยังคงต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานในทุกภาคส่วน ในการเผยแพร่ความรู้เรื่องโทษ ผลกระทบจากการสูบบุหรี่ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันรณรงค์ให้กลุ่มเด็กและเยาวชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและมีค่านิยมที่ถูกต้องเกี่ยวกับบุหรี่ นำไปสู่การเกิดจิตสำนึกที่จะเลิกสูบบุหรี่ได้ด้วยตนเอง ซึ่งถือเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือต้องการปรึกษาเกี่ยวกับการเลิกสูบบุหรี่ สามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่ 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค

ข่าวโดย   พรรณภัทร ประทุมศรี
นักวิชาการเผยแพร่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา