​คำศัพท์ที่ควรรู้เกี่ยวกับชิปปิ้งจีน ฉบับเข้าใจง่าย


11 ต.ค. 2564

คำศัพท์ที่ควรรู้เกี่ยวกับชิปปิ้งจีน ฉบับเข้าใจง่าย

การสั่งของจากจีนกำลังเป็นที่นิยมมาก เพราะมีราคาถูก แม้ว่าจะรอของนาน แต่ก็คุ้มค่ามาก ๆ แถมถ้าสั่งหลายอย่างก็จะได้ราคาถูกลง เหล่าพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์มักซื้อสินค้าราคาถูก ๆ จากจีนที่สามารถนำไปขายต่อได้ในราคาพิเศษ เมื่อคุณทำธุรกิจขายของออนไลน์ในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ชหรือโซเชียลมีเดียต่าง ๆ สินค้าจากประเทศจีนก็เป็นแหล่งทำกำไรให้กับคุณได้เยอะมาก ๆ แต่ปัญหาคือ ขั้นตอนการจัดส่งสินค้าจากประเทศจีนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย สาเหตุหลักมาจากความแตกต่างทางภาษาและคำศัพท์เฉพาะที่ค่อนข้างยาก ทำให้หลายคนยอมแพ้ไปในที่สุด แต่ถ้าเราเข้าใจคำศัพท์เฉพาะที่เกี่ยวกับชิปปิ้ง บวกกับการใช้กูเกิ้ลแปลภาษานิด ๆ หน่อย ๆ ขั้นตอนอื่น ๆ ก็ไม่ซับซ้อนมากขนาดนั้น วันนี้เราจะมาอธิบายวิธีการจัดส่งสินค้าจากประเทศจีนแบบง่าย ๆ สำหรับพ่อค้าแม่ค้ามือใหม่ เพื่อให้คุณเปิดร้านขายของให้ได้กำไรงาม ๆ

สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับการจัดส่งสินค้าจากประเทศจีน

1. Incoterms (เงื่อนไขในการส่งมอบสินค้า)

หลายคนอาจจะงงว่าคำนี้คืออะไร ไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่คำนี้ใช้กันอย่างแพร่หลายในแวดวงชิปปิ้งนี้ Incoterms เป็นข้อตกลงมาตรฐานสากลที่ระบุว่าสินค้าจะถูกจัดส่งจากซัพพลายเออร์ไปยังผู้นำเข้าที่ไหน คำว่า Incoterm นั้นมี 2 ประเภท ได้แก่ DAP (ส่งมอบ ณ ที่) หมายถึง สินค้าของคุณจะถูกจัดส่งจากซัพพลายเออร์ในประเทศจีนไปยังที่ตั้งในต่างประเทศที่ระบุไว้ ส่วนอีกอย่างหนึ่งคือ FOB ย่อมาจาก "Free On Board" หมายถึงการขนส่งจากซัพพลายเออร์ไปยังท่าเรือส่งออก อย่าลืมว่าคุณต้องรับผิดชอบในการจัดบริการขนส่งไปยังปลายทางสุดท้ายด้วย อย่าลืมบอกซัพพลายเออร์ที่เราสั่งของว่าคุณต้องการ Incoterm แบบไหน ไม่อย่างนั้นอาจมีการชาร์จค่าธรรมเนียมต่าง ๆ มากขึ้น สรุปง่าย ๆ คือ Incoterms ก็คือรหัสที่ระบุวิธีการโอนสินค้าจากซัพพลายเออร์มาถึงคุณนั่นเอง

2. FCL และ LCL Shipping

ตอนนี้เรามาที่การขนส่งแบบ FCL (Full Container Load) และ LCL (Less than Container Load) ซึ่งทั้งสองอย่างนี้จะหมายถึงต้นทุนในการขนส่งและขนาดของตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้ในการขนส่งสินค้าของเรา ตรงนี้จะขึ้นอยู่กับจำนวนสินค้าที่เราซื้อจากซัพพลายเออร์ คุณอาจสั่งสินค้าให้เต็มตู้คอนเทนเนอร์หรือไม่ก็ได้ ถ้าสมมติว่าคุณสั่งของเยอะมาก ๆ จนเต็มตู้คอนเทนเนอร์แล้ว ก็ต้องใช้การส่งแบบ FCL ซึ่งจะมีราคาถูกกว่า แต่ปัญหาคือ หลายคนไม่ได้สั่งของเยอะขนาดนั้น ถ้าเป็นนักช้อปทั่วไปที่สั่งของไม่กี่อย่าง ก็ใช้การขนส่งทางอากาศได้ แต่ถ้าสั่งของเยอะ ๆ ค่าส่งก็จะแพงมาก ๆ ทางออกคือ ให้ส่งแบบ LCL จะเป็นการรวมออเดอร์ของเราร่วมกับออเดอร์ของคนอื่น ๆ แถมค่าส่งไม่แพงมากด้วย

3. ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ขนส่ง (Shipping Container Volumes)

โดยทั่วไปแล้วจะมี 4 ตัวเลือกเมื่อพูดถึงตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งจีน ได้แก่ FCL 20 ฟุต, FCL 40 ฟุต, FCL 40 ฟุต HQ และ FCL 45 ฟุต HQ หากเป็นการจัดส่งสินค้ามาจากประเทศจีน ตู้ขนาด 20 ฟุตถูกออกแบบมาให้รับสินค้าที่มีน้ำหนักได้มากกว่าสินค้าขนาดใหญ่ เช่น แร่ โลหะ เครื่องจักร เป็นต้น ส่วนตู้ขนาด 40 ฟุตถูกออกแบบมาเพื่อบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่มากกว่าสินค้าที่มีน้ำหนัก เช่น เฟอร์นิเจอร์ ยางรถยนต์ เสื้อผ้า หากใครจะสั่งของเยอะ ๆ หรือหนัก ๆ ก็สามารถกำหนดรูปแบบการสั่งซื้อตามจำนวนหน่วยที่จะพอดีกับขนาดตู้คอนเทนเนอร์หนึ่ง ๆ ได้ ก็จะประหยัดเงินไปได้มากเลยทีเดียว

4. การประกันภัยการขนส่งสินค้า (Freight Insurance)

การประกันภัยการขนส่งสินค้าเป็นหลักประกันของสินค้าที่เราสั่ง หากสินค้าของเราเสียหาย แตกหัก ชำรุด หรือสูญหาย ประกันสินค้าพวกนี้ก็จะครอบคลุมสินค้าของคุณ ซึ่งใน Incoterms ก็จะมีการระบุว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ นี่เป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ถ้าสมมติว่าเราสั่งของมา 100 ชิ้น แล้วพอสินค้ามาถึงก็พบว่าของแตกไป 10 ชิ้น ถ้าไม่มีประกันก็ทำอะไรไม่ได้ ต้นทุนในการขายของที่สั่งมก็จะสูงขึ้น กำไรได้น้อยลง ค่าทำประกันก็ไม่ได้สูงมาก เพื่อความปลอดภัยของสินค้า ทำประกันเอาไว้ก็ไม่เสียหาย

5. การจัดส่งสินค้า / ระยะเวลารอสินค้า

ระยะเวลาในการจัดส่งสินค้าคือ ระยะเวลาที่ใช้ในการขนส่งจากท่าเรือไปยังท่าเรือปลายทาง เรื่องนี้สำคัญมาก ๆ ในการวางแผนการขาย เพราะยิ่งระยะเวลารอสินค้านานเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งต้องสั่งซื้อเร็วขึ้นเท่านั้น เช่น หากพ่อค้าแม่ค้าอยากได้ของภายในเดือนพฤษภาคม ก็ต้องสั่งก่อนล่วงหน้าหลายเดือน ส่วนระยะเวลาในการรอสินค้าจากจีนมาไทยก็ประมาณ 10 วัน แต่บางครั้งก็อาจรอนานเป็นเดือนก็มี อย่าลืมว่าระยะเวลาในการรอสินค้าไม่ได้หมายความถึงเวลาที่สินค้าจะถูกจัดส่งเท่านั้น ยังรวมถึงเวลาที่สินค้าของคุณอยู่ในท่าเรือก่อนที่จะบรรทุก (สูงสุด 1 สัปดาห์) การจัดการล่าช้าทั้งสองท่าเรือ สภาพอากาศ เป็นต้น พูดง่าย ๆ คือ เราคาดเดาอะไรไม่ได้ระเวลาในการส่งของทางทะเล มีปัจจัยภายนอกมากมายที่ทำให้การส่งล่าช้า

6. บรรจุภัณฑ์ในการส่งออก

ของที่สั่งมาเสียหายคือสิ่งที่พ่อค้าแม่ค้าทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะสินค้าที่เสียหายนำไปสู่การเสียยอดขายและรายได้ของร้านลดลง การเลือกวิธีบรรจุสินค้าเพื่อป้องกันสินค้าจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก และต้องคุยกับซัพพลายเออร์เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ให้ชัดเจน เพราะพวกเขาอาจไม่ทำตามมาตรฐานของคุณ ไม่แปลกที่ซัพพลายเออร์จะใช้บรรจุภัณฑ์ราคาถูก ๆ จนทำให้สินค้าเสียหาย กำชับซัพพลายเออร์เรื่องนี้ให้ดี ถ้าเป็นไปได้ก็ให้ระบุเอาไว้ในสัญญาเลยก็ได้

7. ใบตราส่งสินค้า (Bill of Lading)

ใบตราส่งสินค้าทำหน้าที่เป็นรายการตรวจสอบประเภทต่าง ๆ แสดงให้เห็นชื่อบริษัทขนส่ง, บริษัทส่งออก (ผู้ขาย), ผู้ซื้อ, สินค้ากำลังจัดส่ง, ปริมาณของผลิตภัณฑ์ และ Incoterm เป็นต้น เมื่อมีการจัดส่งสินค้าจากประเทศจีน ต้องมีใบตราส่งสินค้าและต้องแนบมาพร้อมกับสินค้าที่จัดส่งทุกครั้ง

การสั่งของจากจีนมีราคาถูกมากจริง ๆ แต่ก็มีความไม่แน่นอนในเรื่องของระยะเวลาในการส่งของ เราไม่มีทางรู้ได้เลย แนะนำให้ติดตามออเดอร์ของเราอยู่ตลอด ๆ สำหรับการตามของของคุณ คุณต้องรู้สายการเดินเรือขนส่งสินค้าของคุณ เลขที่ตู้สินค้า เลขที่จอง หรือเลขที่เอกสาร หรือดูข้อมูลทั้งหมดนี้ใบตราส่งสินค้าของคุณ เมื่อคุณมีข้อมูลนี้แล้ว คุณก็จะติดตามความคืบหน้าของออเดอร์ของคุณได้ เห็นได้ว่าเรื่องชิปปิ้งไม่ใช่เรื่องยากเลย แต่คำบางคำที่เราไม่รู้อาจทำให้สับสนได้ แต่ถ้าได้รู้แล้ว ทุก ๆ อย่างก็จะง่ายมากขึ้น