​สคร.12 เตือน “สัมผัสหมูและผลิตภัณฑ์หมูดิบแบบปลอดภัย ไม่รับประทานหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ป้องกันป่วยรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากโรคไข้หูดับ”


10 พ.ย. 2564

สคร.12 สงขลา เตือน “สัมผัสหมูและผลิตภัณฑ์หมูดิบแบบปลอดภัย ไม่รับประทานหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ป้องกันป่วยรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากโรคไข้หูดับ”

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เตือนประชาชนในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง หลีกเลี่ยงการสัมผัสหมู เลือดหรือเนื้อหมูดิบโดยไม่สวมถุงมือ หลีกเลี่ยงการเชือดหรือรับประทานหมูที่ป่วย เพราะเสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้หูดับ อาจทำให้หูหนวกถาวรหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ พร้อมแนะวิธีป้องกันโดยสวมอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมระหว่างทำงานที่เกี่ยวข้องกับหมู เลือกซื้อเนื้อหมูสดใหม่จากแหล่งที่ได้มาตรฐาน และปรุงให้สุกทั่วถึงก่อนรับประทาน

สถานการณ์ของโรคไข้หูดับในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 ตุลาคม 2564 จากระบบรายงานการเฝ้าระวังโรค 506 กองโรคติดต่อทั่วไป พบ ผู้ป่วยจำนวน 443 ราย เพศชาย 322 ราย เพศหญิง 121 ราย เสียชีวิต 20 ราย ภาคที่มีผู้ป่วยมากที่สุด คือ ภาคเหนือ 247 ราย รองลงมาคือ ภาคอีสาน 133 ราย ภาคกลาง 44 ราย ภาคตะวันออก 16 ราย และภาคใต้ 3 ราย ตามลำดับ

นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึง สถานการณ์ของโรคไข้หูดับในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน - 31 ตุลาคม 2564 พบ ผู้ป่วยแล้ว 2 ราย อาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอควนขนุน และอำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง โดยมี 1 ราย เสียชีวิต ทั้งนี้ จากผลการสอบสวนโรค พบว่า ผู้ป่วยมีประวัติเสี่ยง คือ เป็นผู้เลี้ยงและจำหน่ายเนื้อหมู บางครั้งอาจมีแผลที่มือและไม่ได้สวมถุงมือตลอดเวลาขณะสัมผัสหมูหรือเนื้อหมู ส่วนประวัติเสี่ยงของผู้เสียชีวิตคาดว่าอาจเกิดจากการรับประทานอาหารแหนมดิบหรือการสัมผัสกับหมูหรือเนื้อหมูที่ติดเชื้อ

โรคไข้หูดับ เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียเฉียบพลัน เกิดจากเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) โดยปกติ เชื้อนี้จะพบได้ในต่อมทอนซิลใกล้เพดานปากและเยื่อเมือกบุในโพรงจมูก แต่หากหมูมีสุขภาพอ่อนแอหรืออยู่ในภาวะเครียดจากระบบการเลี้ยงหรือรอเชือดที่ไม่เหมาะสม เชื้อนี้จะฉวยโอกาสเพิ่มจำนวนเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้หมูมีอาการป่วยหรือเสียชีวิตได้ เชื้อนี้สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ 1. เกิดจากการบริโภคเนื้อหรือผลิตภัณฑ์จากหมูที่ติดเชื้อ ที่ปรุงแบบดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ 2. การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมูที่เป็นโรค ผ่านทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา หลังจากได้รับเชื้อ 1-3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ คอแข็งเกร็ง อาเจียน ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาจมีอาการเวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ การได้ยินลดลงหรือหูหนวก หากพบว่ามีอาการดังกล่าว ขอให้รีบมาพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติสัมผัสเนื้อหมูหรือการกินเนื้อหมูดิบให้ทราบ หากได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องทันท่วงที จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรครุนแรงและการเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำมีความเสี่ยงจะป่วยรุนแรงได้ เช่น ผู้ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน ไต มะเร็ง หัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น

นายแพทย์เฉลิมพล เน้นย้ำ ให้ผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ค้า สวมรองเท้าบูทยาง สวมถุงมือ และสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดให้มิดชิด ล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง และประชาชนควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ แยกอุปกรณ์ที่ใช้หยิบหรือเขียงสำหรับของสดต่างหาก ควรบริโภคอาหารที่ทำสดใหม่และปรุงสุกด้วยความร้อนอย่างทั่วถึง หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ข่าวโดย: กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ สคร.12 สงขลา