นมเย็นออนไลน์ การดูแลตนเองจากประสบการณ์ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม (1) การทำความเข้าใจตัวเองและโรค


10 ม.ค. 2565

สถานวิจัยการควบคุมโรคมะเร็งในประเทศไทย ดำเนินโครงการโครงการพัฒนาสื่อสุขภาพด้านการดูแลตนเองจากประสบการณ์ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม กลุ่มอาสาสมัครศูนย์ถันยเวชช์ ม.อ. ทำให้ได้บทความความรู้จำนวน 15 เรื่อง ที่เหมาะสมและได้รับการยินยอมเผยแพร่จากคนต้นเรื่องเพื่อแก่ประชาชนทั่วไป ทางเว็บไซต์กิมหยง ขอทยอยนำบทความมาเผยแพร่ให้ผู้สนใจได้ติดตามอ่าน ติดตามชมกันครับ

การทำความเข้าใจตัวเองและโรค

การทำความเข้าใจตัวเองและโรคของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีความสำคัญอย่างไร พี่ดาว ประกายดาว สุนทร และพี่ก้อย ภาวินี ชีวะก้องเกียรติ ย้อนอดีต เล่าประสบการณ์ให้เราฟัง

เมื่อรู้ว่าเป็นโรคนี้ พี่ดาวบอกเลยว่าเธอต้องตั้งสติ ยอมรับให้ได้ หาไม่แล้ว การรักษาจะค่อนข้างลำบาก เธอหาข้อมูลโรคจากคุณหมอ พยาบาล ผู้รู้ที่มีประสบการณ์ บทความต่าง ๆ และ Google เพื่อนำมาประกอบการรักษา ส่วนพี่ก้อยหญิงสาวผู้คุ้นเคยกับเรื่องมะเร็งเต้านมเป็นอย่างดี เพราะอยู่เป็นเพื่อนคุณแม่ผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมมาตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว ทั้งคู่ให้ความสำคัญกับการหาความรู้เพื่อเข้าใจโรค มีทัศนคติที่ดีต่อการให้ความร่วมมือและวางแผนการรักษาร่วมกับคุณหมอ และพวกเธอทราบดีว่าต้องเตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจเพื่อรับการรักษาตามที่วางแผนกันไว้


เพิ่งเผาศพสามีเสร็จ ก็ต้องมาฟังข่าวเศร้าของตัวเองต่อ

แต่ก่อนจะเข้าใจและยอมรับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ พี่ดาวบอกว่า จิตตกไปเลยตอนที่รู้ว่าเป็นมะเร็ง ประกอบกับการที่เธอเพิ่งเผาศพสามีเสร็จเพียงไม่กี่วัน จิตใจยังว้าวุ่นก็ต้องมาฟังผลตรวจชิ้นเนื้อ สิ่งที่ฉุดเธอขึ้นมาจากความรู้สึกตรงนั้นได้ คือกำลังใจจากลูกที่อยู่เคียงข้างและบอกว่า “อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด”

ในความโชคร้ายยังมีโชคดี มะเร็งของเธออยู่ในระยะต้น ยังรักษาได้ แม้จะร้องไห้ด้วยความเสียใจ แต่เมื่อกลับบ้านมา เจอแม่ที่ทิ้งบ้านต่างจังหวัดของตัวเองเพื่อมาอยู่ดูแลเธอ มาให้กำลังใจในช่วงการรักษา ก็ยิ่งทำให้เธอคิดได้ว่า ต้องเข้มแข็ง อยู่เพื่อแม่ และเพื่อลูก

ส่วนพี่ก้อย มีประสบการณ์การดูแลคุณแม่ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมระยะสุดท้ายอย่างใกล้ชิดตั้งแต่วัยประถม เธอมีเวลาพอที่จะศึกษาข้อมูล และมั่นใจว่าเธอเข้าใจโรคนี้พอสมควร สมัยก่อนเธอมองว่ามะเร็งน่ากลัว เธอจึงใส่ใจกับการดูแลตัวเองไม่ว่าจะเรื่องอาหารการกิน อารมณ์ และสังเกตตัวเองตลอด ในวันที่คลำเจอก้อนที่เต้านมก็มั่นใจ 90% เลยว่า ใช่แน่นอน แม้ในขณะที่ทราบผลเธอเพิ่งเสียสามีด้วยโรคมะเร็งตับได้ 11 เดือน แต่ด้วยพื้นฐานที่เป็นคนชอบปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว ก็มองว่าการเกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องปกติ เพียงแค่ไม่คาดคิดว่าโรคมะเร็งจะเกิดกับตนเร็วขนาดนี้ ทั้ง ๆ ที่ใส่ใจดูแลตัวเองมาตลอด

พี่ก้อยบอกว่า ลำพังตัวเองไม่ได้คิดอะไร แต่เมื่อเห็นลูกร้องไห้เมื่อได้ยินผล ก็รู้สึกสงสารลูก เลยได้ตั้งสติว่าเราจะอ่อนแอไม่ได้และช้าไม่ได้แล้ว จึงกลับมาที่ตัวเองอีกครั้ง และคิดว่าต้องดูแลตัวเองให้ดีที่สุด เราป่วยกายแล้ว ใจเรา เราจะไม่ซ้ำเติมมันอีก และจะทำให้ดีที่สุด โดยมีเป้าหมายคือ อยู่กับลูกให้นานที่สุด เท่าที่เวลาจะมี และพยายามดูแลตัวเองให้ดีที่สุด ตามขั้นตอนการรักษาของคุณหมอ การไม่อยากเห็นลูกกำพร้าทั้งพ่อและแม่ เป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ได้หันกลับมาทบทวนและปรับทัศนคติว่า จะวางแผนชีวิตต่อไปอย่างไร ประกอบกับความรู้ความเข้าใจต่อโรค และความมั่นใจในคุณหมอ เธอก็เข้าสู่ขั้นตอนการรักษาตามปกติ

พี่ดาวและพี่ก้อย 2 สาวหัวใจแกร่งมีจุดร่วมเดียวกันตรงที่กำลังอยู่ในช่วงวิกฤติของชีวิตจากการสูญเสียคนที่รัก และต้องมาเจอว่าตัวเองเป็นมะเร็งเต้านม การกลับมาเข้าใจตัวเอง และยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น อาจจะไม่ง่ายนักสำหรับพี่ดาวในช่วงแรก แต่ด้วยกำลังใจของคนในครอบครัว ทำให้พวกเธอตั้งสติได้อีกครั้ง และเดินหน้าหาข้อมูล เพื่อทำความเข้าใจโรคที่เกิดขึ้น เข้าใจกระบวนการรักษาที่เหมาะสม นำไปสู่การตัดสินใจและวางแผนร่วมกับคุณหมอ และเตรียมพร้อมเข้ารับการรักษา ด้วยตระหนักดีว่าการอยู่ต่อของพวกเธอ เป็นกำลังใจกลับคืนแก่ครอบครัวที่รักเธอมากเช่นกัน


ประกายดาว สุนทร : จิตอาสา ชมรมนมเย็น (เพื่อนช่วยเพื่อนมะเร็งเต้านม)

ภาวินี ชีวะก้องเกียรติ : จิตอาสา ชมรมนมเย็น (เพื่อนช่วยเพื่อนมะเร็งเต้านม)

บทความชุดความรู้จากประสบการณ์ของสมาชิกชมรมนมเย็น (เพื่อนช่วยเพื่อนมะเร็งเต้านม)

โครงการพัฒนาสื่อสุขภาพด้านการดูแลตนเองจากประสบการณ์ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม กลุ่มอาสาสมัครศูนย์ถันยเวชช์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์

สนับสนุน โดยสถานวิจัยการควบคุมโรคมะเร็งในประเทศไทย