นมเย็นออนไลน์ (3) ​ประสบการณ์ 2 สาว ผู้ไม่ลังเลที่จะตัดทั้งเต้า


24 ม.ค. 2565

ประสบการณ์ของสาวรุ่นใหญ่ สุขภาพจิตดี มีธรรมะประจำใจ ป้าออม-พูนสิน ดอนนาปี แม้จะเจอแค่หินปูนในเต้านม ยังไม่เรียกว่ามะเร็งระยะที่ 1 ด้วยซ้ำ แต่เธอก็พร้อมที่จะตัดทั้งเต้า และสาวรุ่นน้อง พี่ก้อย-ภาวินี ชีวะก้องเกียรติ ผู้มีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะรักษาให้ดีที่สุด ไม่ว่าเนื้อจะร้ายหรือไม่ เธอไม่ลังเลที่จะตัดทั้งเต้า เพื่อสิ่งเดียวที่ทั้งสองปรารถนาเหมือนกัน นั่นคือ ต้องปลอดภัยที่สุด

ป้าออมเล่าความหลังให้เราฟังด้วยสีหน้าอารมณ์ดีถึงเส้นทางชีวิตก่อนที่จะตัดสินใจผ่าทั้งเต้าว่า เริ่มด้วยการที่เธอมาตรวจแมมโมแกรมแล้วเจอหินปูนหลายจุด ซึ่งเป็นจุดเล็ก ๆ ที่คลำไม่เจอ และอีกจุดอยู่ที่ต่อมน้ำนม จึงต้องอัลตราซาวด์เต้านมอีกครั้งเพื่อยืนยันว่าสิ่งที่เจอผิดปกติหรือไม่ ผลปรากฏว่ามีความสงสัยในบางจุดว่าอาจจะเป็นมะเร็ง จึงเข้าสู่ขั้นตอนการเจาะชิ้นเนื้อ ผลคือเป็นเนื้อไม่ดี แต่โชคดีที่เล็กนิดเดียว

กรณีของป้าออม คุณหมอแนะนำว่าจะตัดทั้งเต้าหรือตัดเฉพาะส่วนก็ได้ ด้วยความที่อายุเยอะแล้ว ลูกก็มีแล้ว หากจะตัดแบบสงวนเต้าก็คงกินพื้นที่เยอะ เพราะหินปูนเยอะ เธอจึงตัดสินใจตัดทั้งเต้า และเมื่อถามความเห็นหมออีกครั้ง โดยขอให้เน้นความปลอดภัยเป็นหลัก คุณหมอก็เห็นพ้องต้องกันกับสิ่งที่เธอเลือก

รู้สึกอย่างไรในยามฟื้นขึ้นมา เมื่อหนึ่งเต้าของเรา หายไปแล้ว

“ไม่รู้สึกอะไรเลยค่ะ เพราะเตรียมใจไว้แล้ว เรารู้แล้วว่าเราผ่าตัดทั้งเต้า ที่เหลือเป็นหน้าที่ของหมอแล้ว เราก็โอเค” ป้าออมบอกว่าตัวเองเป็นคนมีสุขภาพจิตดี ยึดถือธรรมะเป็นหลัก ผ่าตัดเสร็จแล้วก็ไม่ได้รู้สึกเศร้า ซึมแต่อย่างใด แถมยังเดินออกกำลังกายและทำตามคำแนะนำในท่ากายบริหารทุกอย่าง จนพยาบาลยังตกใจ และแนะนำให้เธอเป็นจิตอาสาที่ศูนย์ถันยเวชช์

ส่วนพี่ก้อย อีกหนึ่งสาวที่มั่นใจเกินร้อย ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ยังไงก็ตัด

พี่ก้อยเองก็ผ่านกระบวนการตรวจเช่นเดียวกับป้าออม ไม่ว่าจะเป็นการตรวจแมมโมแกรม อัลตราซาวด์ และเจาะชิ้นเนื้อ ก่อนที่จะเข้ารับการผ่าตัด เพราะเจอก้อนเนื้อขนาด 2.5 เซนติเมตร ด้วยอายุยังน้อยและปัจจัยอื่น ๆ ในตอนแรกเธอก็มีทางเลือกเช่นกันว่าจะตัดทั้งเต้าหรือสงวนเต้า เธอถามคุณหมอเพื่อขอทราบข้อดีข้อเสียของทั้ง 2 ทางเลือก “ตัดทั้งเต้า ก็อาจจะไม่ต้องฉายแสง แต่ถ้าตัดสงวนเต้าจะต้องฉายแสง”

ตั้งแต่รู้ว่ามีก้อนเนื้อ ก็มีเป้าหมายชัดเจนเลยว่า “เราจะเป็นคนไข้ที่ดีที่สุดของคุณหมอ จะดูแลตัวเองให้ดีที่สุดตามขั้นตอนทุกกระบวนการ และจะรักษาให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้หาย” มีแค่ทางนี้เท่านั้นที่เธอเลือก เพราะกลัวว่าจะกลับมาเป็นซ้ำหรือมีเชื้อหลงเหลืออยู่ ด้วยในตัวเธอมีปัจจัยด้านพันธุกรรม และเธอก็ไม่อยากเป็นเหมือนคุณแม่ที่จากไปด้วยโรคมะเร็งเต้านมเช่นกัน ในที่สุดความตั้งใจของเธอก็เป็นจริง ก่อนวันผ่าตัด 2-3 วัน ผลการย้อมสีชิ้นเนื้อของเธอพบว่า เธอเป็นมะเร็งพันธุ์ดุ มาถึงตอนนี้ ไม่จำเป็นต้องเลือกอีกแล้ว ตัดทั้งเต้าสถานเดียว

เมื่อผ่าตัดทั้งเต้าแล้วเรียบร้อย สาวแกร่งอย่างพี่ก้อยก็ไม่รู้สึกกลัดกลุ้มกับการหายไปของเต้านม มีเพียงความกังวลว่าการรักษาขั้นต่อไปจะรับไหวหรือไม่ เธอบอกตัวเองว่าต้องยืนหยัดให้ได้จนจบกระบวนการรักษา ระหว่างนั้นก็ปฏิบัติตามคำแนะนำของพยาบาลอย่างเต็มที่ในการออกกำลังกาย ยืด บริหาร รับอากาศดีเพื่อให้แผลออกมาดี และเตรียมตัวให้ร่างกายแข็งแรง พร้อมเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปคือ เคมีบำบัด


ตัดทั้งเต้า สงวนเต้า ทำอย่างไรดีเมื่อต้องเลือกซักทาง

หากต้องแนะนำผู้ป่วยรายใหม่ที่กำลังลังเลว่าจะเลือกทางไหนดี ทั้ง 2 สาว เห็นตรงกันที่จะแนะนำให้ฟังความเห็นของคุณหมอ ป้าออมเสริมว่า ถ้าเป็นเยอะก็ควรจะตัดทั้งเต้า แต่ถ้าเป็นน้อยจะสงวนไว้ก็ได้ แต่ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับระยะและชนิดของมะเร็งด้วย ไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็ไม่ต้องกลัว ความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์สมัยนี้ดีขึ้นมาก ไม่ว่าจะผ่าตัดแบบไหนก็สามารถทำศัลยกรรมเสริมเต้านมในเวลาเดียวกันได้เลย เรียกได้ว่าเจ็บครั้งเดียว รักษาตัวครั้งเดียว ซึ่งต่างจากสมัยก่อน ที่พี่ก้อยบอกว่า กลัวตายเร็ว ขอตัดอย่างเดียว

หากท่านผู้อ่านยังรู้สึกกังวล ไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไรดี ลองมาปรึกษารุ่นพี่อย่างเช่นป้าออม พี่ก้อย และจิตอาสาท่านอื่น ๆ ได้ที่ชมรมนมเย็น เพื่อนช่วยเพื่อนมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลสงขลานครินทร์

พูนสิน ดอนนาปี : จิตอาสา ชมรมนมเย็น (เพื่อนช่วยเพื่อนมะเร็งเต้านม)

ภาวินี ชีวะก้องเกียรติ : จิตอาสา ชมรมนมเย็น (เพื่อนช่วยเพื่อนมะเร็งเต้านม)

บทความชุดความรู้จากประสบการณ์ของสมาชิกชมรมนมเย็น (เพื่อนช่วยเพื่อนมะเร็งเต้านม)

โครงการพัฒนาสื่อสุขภาพด้านการดูแลตนเองจากประสบการณ์ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม กลุ่มอาสาสมัครศูนย์ถันยเวชช์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์

สนับสนุน โดยสถานวิจัยการควบคุมโรคมะเร็งในประเทศไทย