นมเย็นออนไลน์ (4) ​การตรวจเต้านมด้วยตนเองหลังการรักษา


21 มี.ค. 2565

การตรวจมะเร็งเต้านม ไม่ได้มีเพียงการตรวจคัดกรองว่าเป็นโรคนี้หรือไม่เท่านั้น สำหรับผู้ป่วยที่รักษาด้วยการผ่าตัดแบบสงวนเต้าแล้ว ก็ยังคงแนะนำให้ตรวจเต้านมด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพราะไม่มีสิ่งใดยืนยันได้ว่า มะเร็งจะไม่กลับมาเยี่ยมเยียนคุณอีก

ประกายดาว สุนทร หรือพี่ดาว ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ปัจจุบันอยู่ในระยะปลอดโรค กระบวนการรักษาเสร็จสิ้นมา 9 ปี แล้ว แต่ทุกวันนี้พี่ดาวก็ยังตรวจเต้านมด้วยตัวเองทุกเช้าขณะอาบน้ำ ด้วยเห็นความสำคัญว่าผู้ที่ผ่าตัดเต้านมแบบสงวนเต้ามีความเสี่ยงมากกว่าคนที่ตัดทั้งเต้า และหากมะเร็งกลับมาลุกลามไป จะรักษายากกว่ารอบแรก จึงต้องเฝ้าระวังอยู่เสมอ

ในกรณีของเธอ คุณหมอให้ทางเลือกว่าจะตัดทั้งเต้าหรือสงวนเต้าก็ได้ เมื่อผลวิจัยให้ผลไม่แตกต่างกัน เธอจึงเลือกที่จะสงวนเต้า ตัดเฉพาะเนื้อร้ายออกไปเท่าลูกมะกรูด

การตรวจเต้านมหลังผ่าตัดควรทำบ่อยแค่ไหน

แนะนำให้ตรวจอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ทั้งสองข้าง หากทำทุกวันได้ยิ่งดี สามารถทำได้ขณะอาบน้ำ เวลาฟอกสบู่ลื่น ๆ ทำให้ตรวจได้ง่ายขึ้น และให้คลำไปถึงใต้รักแร้ ดูต่อมน้ำเหลืองด้วยเช่นกัน กด 3 ระดับ เช่นเดียวกับที่ตรวจบริเวณเต้านม เพราะในบางกรณีอาจพบก้อนที่ต่อมน้ำเหลืองได้

เราขอให้พี่ดาวสาธิตวิธีการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง เธออธิบายพร้อมทำท่าประกอบอย่างชำนาญ

ยกแขนข้างที่จะตรวจขึ้นไปให้สูง ใช้ปลายนิ้วมืออีกข้าง 3 นิ้ว (ปลายนิ้วนาง นิ้วกลาง และนิ้วชี้) วนรอบหัวนม ซึ่งทำได้ 3 แบบ ได้แก่ วนเป็นรูปก้นหอย จะทวนเข็มหรือตามเข็มนาฬิกาก็ได้ วนเป็นรูปลิ่ม หรือขึ้นลง วนใน 3 ระดับ คือ ระดับตื้น ระดับกลาง และระดับลึก น้ำหนักที่สัมผัสลงไปทั้ง 3 ระดับ นั้น ในระดับตื้นเพียงแต่แตะเฉย ๆ แล้วเพิ่มน้ำหนักมากขึ้นในระดับกลาง จนระดับลึกที่สุด จะกดเจอกระดูกซี่โครง ตรวจให้ทั่วบริเวณเต้านม หากสัมผัสเจอก้อน จะรู้สึกได้ทันที หากเป็นก้อนธรรมดาจะกลิ้งไปกลิ้งมา แต่ถ้าเป็นก้อนมะเร็งจะอยู่กับที่ เมื่อคลำเจอก้อนก็จะรู้สึกสะดุดทันที และผู้หญิงทุกคนที่มีอายุเกิน 20 ปี สามารถตรวจเต้านมด้วยตัวเองกับเพลง“Dance to Check Breast Cancer” ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=CCIIKkvY5Qc จัดทำโดย ศูนย์ถันยเวชช์ฯ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

นอกจากพี่ดาวจะตรวจเต้านมเองทุกวันแล้ว การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญมาก เธอจะบริหารแขน ไหล่ เพื่อป้องกันไหล่ติด และยังเลือกวิธีการออกกำลังที่ตัวเองชอบทำในทุก ๆ วัน วันที่ฝนไม่ตก เธอจะเดินออกกำลัง 6 กิโลเมตร หรือปั่นจักรยาน แต่หากฝนตก ก็จะหันมาเล่นฮูลาฮูปแทน 45 นาที

แม้ผู้ป่วยจะผ่านการผ่าตัดเต้านม รักษาตัวจนอยู่ในระยะปลอดโรคแล้ว การตรวจเต้านมด้วยตัวเองยังคงสำคัญและควรทำสม่ำเสมอ เพื่อการรักษาที่ทันท่วงที หากมะเร็งกลับมาเยี่ยมคุณซ้ำ


ประกายดาว สุนทร : ประธานชมรมนมเย็น (เพื่อนช่วยเพื่อนมะเร็งเต้านม)

บทความชุดความรู้จากประสบการณ์ของสมาชิกชมรมนมเย็น (เพื่อนช่วยเพื่อนมะเร็งเต้านม)

โครงการพัฒนาสื่อสุขภาพด้านการดูแลตนเองจากประสบการณ์ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม กลุ่มอาสาสมัครศูนย์ถันยเวชช์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์

สนับสนุน โดยสถานวิจัยการควบคุมโรคมะเร็งในประเทศไทย