​สคร.12 สงขลา เตือน ปชช. ภาคใต้ตอนล่าง หน้าฝน ระวังป่วยโรคเมลิออยโดสิส (โรคไข้ดิน) เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต


19 ต.ค. 2565

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เตือนประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ระวังป่วยด้วยโรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis) หรือโรคไข้ดิน เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคธาลัสซีเมีย และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง แนะเลี่ยงสัมผัสดินและน้ำ เมื่อมีบาดแผล ไม่เดินเท้าเปล่า ใส่บูทยาวเมื่อต้องลุยน้ำ และดื่มน้ำจากแหล่งที่สะอาดหรือน้ำต้มสุก หากมีอาการไข้ร่วมกับประวัติสัมผัสดินหรือแหล่งน้ำธรรมชาติโดยไม่ป้องกัน ให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติเสี่ยง

นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึงสถานการณ์โรคเมลิออยโดสิส ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง จากข้อมูลระบบเฝ้าระวังโรคกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 18 กันยายน 2565 เขตสุขภาพที่ 12 มีรายงาน ผู้ป่วยโรคเมลิออยโดสิส จำนวน 51 ราย โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ สงขลา จำนวน 24 ราย รองลงมา ตรัง 9 ราย, พัทลุง 8 ราย, นราธิวาส 6 ราย, ปัตตานี 3 ราย และสตูล 1 ราย พบผู้ป่วยเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยผู้ป่วยเพศชาย ร้อยละ 70.59 ผู้ป่วยเพศหญิง ร้อยละ 29.41 ผู้ป่วยที่พบส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุ กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือ 55-64 ปี ร้อยละ 29.41 รองลงมาคือ 65 ปีขึ้นไป ร้อยละ 23.53 และรายงานผู้เสียชีวิต 12 ราย ได้แก่ สงขลา 7 ราย, ตรัง 3 ราย, ปัตตานี 1 ราย และสตูล 1 ราย

จากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้เสียชีวิตมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน ร้อยละ 87.50 ประกอบอาชีพที่ต้องสัมผัสดินเป็นประจำ (ทำสวน ดำนา ขุดดิน หาปลา เลี้ยงวัว) โดยไม่ได้สวมอุปกรณ์ป้องกันอย่างสม่ำเสมอ ร้อยละ 75 ปลูกต้นไม้และปลูกผักบริเวณบ้านโดยไม่สวมอุปกรณ์ป้องกัน ร้อยละ 25 โรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เบอร์โคเดอเรีย สูโดมัลลิอาย (Burkholderia pseudomallei) ซึ่งพบได้ทั่วไปในดินและน้ำ นาข้าว ท้องไร่ แปลงผัก สวนยาง ทั่วทุกภาคในประเทศไทย พบรายงานผู้ป่วยมากในช่วงฤดูฝน (ตุลาคม – ธันวาคม) และถือเป็นโรคประจำถิ่นที่พบผู้ป่วยประปรายได้ตลอดปี โดยผู้ป่วยมักรับเชื้อที่อยู่ในดินและน้ำ สามารถติดต่อได้ 3 ทาง คือ 1.ทางผิวหนังที่มีบาดแผล หรือผิวหนังที่อ่อนนุ่มจากการแช่น้ำหรือสัมผัสพื้นที่ชื้นแฉะ 2.หายใจเอาฝุ่นจากดินหรือน้ำที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป 3.ดื่มหรือกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป และพบว่าระยะฟักตัวของเชื้อ คือ 1-21 วัน บางรายอาจนานเป็นปี ผู้ติดเชื้อจะมีอาการหลากหลายจนถึงไม่มีอาการ ผู้ป่วยมักมีอาการไข้ทั้งแบบเฉียบพลัน หรือ ไข้เรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ มีเนื้อตาย แผล ฝี หนองที่ปอด ตับ ม้าม แผลอักเสบเรื้อรัง ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดซึ่งมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว ฉะนั้น หากมีไข้สูง เป็นเวลานานเกิน 3 วัน หรือเกิดแผลฝีหนองตามร่างกาย ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ให้รีบไปพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยง

สำหรับการรักษาผู้ที่มีอาการเข้าได้กับโรคเมลิออยโดสิสจะได้รับการเก็บตัวอย่างเพื่อเพาะเชื้อยืนยันการวินิจฉัย จากนั้นแพทย์จะให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะที่เฉพาะเจาะจงและเหมาะสม กับผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่องอย่างน้อย 14 วัน หากยังมีเชื้อหลงเหลืออยู่ แพทย์จะพิจารณาปรับยาปฏิชีวนะเพิ่มตามความเหมาะสม เพื่อฆ่าเชื้อและป้องกันการกลับเป็นซ้ำทั้งนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้ส่วนใหญ่ คือ ผู้ประกอบอาชีพสัมผัสดินและน้ำโดยตรงเป็นเวลานาน เช่น เกษตรกร ทำนา ทำสวน และประมง โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง, โรคเบาหวาน, โรคติดสุรา, โรคไตเรื้อรัง หรือผู้มีโรคประจำตัวที่เป็นสาเหตุให้มีภูมิคุ้มกันต่ำอื่น ๆ เช่น โรคมะเร็ง ผู้ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน และผู้ป่วยที่ได้รับยา สเตียรอยด์เป็นเวลานาน หรือผู้ที่ทานยาต้ม ยาหม้อ ยาชุด ยาลูกกลอนที่มีสเตียรอยด์ปนเปื้อน มีความเสี่ยงต่อโรครุนแรงสูงขึ้น

นายแพทย์เฉลิมพล กล่าวว่า สคร.12 สงขลา ขอแนะนำวิธีการป้องกันโรคเมลิออยโดสิส ได้แก่ 1.ผู้ที่มีบาดแผลให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากจำเป็นขอให้สวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาวหรือ ชุดลุยน้ำและรีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและสบู่ 2.สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ทุกครั้งเมื่อทำงานหรือมีกิจกรรมที่สัมผัสดินหรือโคลน 3.หากมีบาดแผลที่ผิวหนัง ควรรีบทำความสะอาดบาดแผล และหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำจนกว่าแผลจะแห้งสนิท 4.ทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำต้มสุก 5.หลีกเลี่ยงการสัมผัสลม ฝุ่น และการอยู่ท่ามกลางสายฝน หากมีข้อสงสัย

สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422