สภาพัฒน์-ม.อ. ประชุมระดมความเห็นจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่สงขลา-ปัตตานี


20 พ.ค. 2566

สภาพัฒน์ฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดประชุมระดมความคิดเห็น ครั้งที่ 2 (เวทีที่ 3-5) ภายใต้โครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี

20 พฤษภาคม 2566 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ปรึกษาโครงการ จัดประชุมระดมความคิดเห็น ครั้งที่ 2 (เวทีที่ 3-5) ภายใต้โครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี ณ ห้องประชุม ชั้น 8 อาคาร LRC 1 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมี ดร.วิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นประธานเปิดการประชุม รวมทั้งมีคณะกรรมกำกับโครงการฯ เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุม

โครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี เป็นการดำเนินการที่เกิดขึ้นมาจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ที่มอบหมายให้ สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) และแผนแม่บทต่าง ๆ โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ ซึ่งที่ผ่านมา สศช. ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมายกร่างขอบเขตของงานจ้างที่ปรึกษา และใช้ในกระบวนการจ้างที่ปรึกษา โดยวิธีคัดเลือก และได้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มาเป็นที่ปรึกษาโครงการ เพื่อทำหน้าที่จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี โดยใช้กระบวนการ SEA ตามแนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ของ สศช. เพื่อทำแผนให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ คำนึงถึงความสมดุลของการพัฒนา ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โครงการนี้ มีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 18 เดือน โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการแสดงความคิดเห็นในทุกขั้นตอนของการจัดทำแผนแม่บทด้วย SEA

ซึ่งได้กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 40 เวที ทั้งนี้ยังไม่นับรวมการหารือกลุ่มย่อยแบบไม่เป็นทางการอีกหลายครั้ง การประชุมระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ เป็นการจัด ครั้งที่ 2 เวทีที่ 3-5 จังหวัดสงขลา เพื่อระดมความคิดเห็นต่อกรอบอ้างอิงเชิงยุทธศาสตร์ ข้อมูลพื้นฐานและทุนทางทรัพยากร รวมทั้งการระบุประเด็นยุทธศาสตร์ เป้าหมายการพัฒนา และวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนการระบุผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งสอดคล้องกับขั้นตอนการกำหนดขอบเขตของกระบวนการ SEA สำหรับการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี

ทั้งนี้ ผลลัพธ์จะได้นำไปกำหนดแผนการสื่อสารและการมีส่วนร่วม รวมถึงการกำหนดวิสัยทัศน์และประเด็นการพัฒนาของแผนแม่บทฯ ให้เป็นที่ยอมรับของผู้มีส่วนได้เสียต่อไป โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม รวมทั้ง 3 เวที ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 20-22 พฤษภาคม 2566 จำนวนประมาณ 200 คน ประกอบด้วย

(1) หน่วยงานภาครัฐ

(2) ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา

(3) ภาคประชาสังคมและภาคประชาชน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่อาศัยในเขตพื้นที่จังหวัดสงขลาและพื้นที่ใกล้เคียง

และ (4) สื่อมวลชน ทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

รูปแบบการประชุมระดมความคิดเห็น ในช่วงเช้าเป็นการนำเสนอ ทิศทางการพัฒนาของพื้นที่ ข้อมูลพื้นฐานและทุนทางทรัพยากรของแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี โดย ดร.สินาด ตรีวรรณไชย ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาระบบบริหาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ดร.ชญาทัต เนียมแสวง ผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ และระดมความคิดเห็นในทิศทางการพัฒนา และข้อมูลและทุนทรัพยากรในพื้นที่ รวมทั้ง การระบุประเด็นยุทธศาสตร์ เป้าหมายการพัฒนา และวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และในช่วงบ่ายเป็นการนำเสนอ ร่างกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียและบทบาทความเกี่ยวข้องกับแผนแม่บทฯ โดย ผศ.ดร.นฤทธิ์ ดวงสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และระดมความคิดเห็นในเรื่องการระบุกลุ่มผู้ส่วนได้เสีย รวมทั้งบทบาทของแต่ละกลุ่มต่อแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี

ผลจากการระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ ที่ปรึกษาจะนำไปประมวลผลและวิเคราะห์ถึงการกำหนดกรอบอ้างอิงยุทธศาสตร์และขอบเขตเชิงพื้นที่และเชิงเวลา รวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลฐาน และจัดทำแผนการสื่อสารและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง โดยที่ปรึกษาจะนำผลการวิเคราะห์กลับมารับฟังความคิดเห็นในการประชุมเวทีต่อ ๆ ไป ทั้งนี้ สามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของโครงการฯ ได้ผ่านช่องทางเว็บไซต์ของสภาพัฒน์ฯ Facebook: @SEASongkhlaPattani หรือประสาน ฝ่ายพันธกิจสังคม สำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์