​"อบจ.สงขลา ผนึก ทน.หาดใหญ่" ทำแผนใช้พื้นที่หน้าหอนาฬิกาสร้างหอชมเมืองหาดใหญ่


25 พ.ค. 2566

อบจ.สงขลา รุกต่อการก่อสร้างหอชมเมืองและสกายวอล์ค ใช้พื้นที่ตลาดพลาซ่าหน้าหอนาฬิกาหาดใหญ่ สร้างหอคอยสูง 155 เมตร มีทั้งพื้นที่ชมวิว สกายวอล์คลอยฟ้า ร้านอาหาร ของที่ระลึก นิทรรศการเล่าเรื่องเมืองสงขลา ออกแบบภายใต้แนวคิด "เฟื่องฟ้ารุ่งเรืองเมืองสงขลา" เพื่อรองรับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พับการก่อสร้างสร้างพื้นที่เขาคอหงส์เนื่องจากกระทบพื้นที่ความมั่นคงอยู่ใกล้เขตทหาร


(25 พ.ค. 66) ที่ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมบุรีศรีภู คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เปิดโครงการศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างหอชมเมืองและสกายวอล์ค เพื่อรองรับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมี นางสาวปรินดา ปาลาเร่ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นายสุรสิทธิ์ ศรีอินทร์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ผู้แทนองค์กรชุมชน ตลอดจนสื่อมวลชน เข้าร่วม และมี พล.ต.ท.สาคร ทองมุณี นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ กล่าวต้อนรับ

นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กล่าวว่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีความสำคัญทางการค้า เศรษฐกิจ และการลงทุนของภาคใต้ตอนล่าง ทั้งยังเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการรองรับการท่องเที่ยว ทั้งจากนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างประเทศ ซึ่งมีจำนวนมากเป็นอันดับ 3 ของภาคใต้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา จึงได้กำหนดนโยบายพัฒนาต่อยอดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของภาคใต้ และกำหนดแนวคิดในการจัดทำโครงการศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างหอชมเมืองและสกายวอล์ค เพื่อรองรับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นหมุดหมายตาแห่งใหม่ของเมืองหาดใหญ่ ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาท่องเที่ยวในอำเภอหาดใหญ่ และจังหวัดสงขลามากขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวของจังหวัดสงขลาให้เพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 ได้มีการศึกษารวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์พื้นที่ รวมถึงนำความเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมมากำหนดแนวคิดในการออกแบบให้มีความโดดเด่น และสอดคล้องกับบริบทของคนในพื้นที่จังหวัดสงขลาในการดำเนินโครงการครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานภายใต้แนวคิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญของการดำเนินการในรูปแบบการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งจากประชาชนในพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และภาคีเครือข่าย โดยจะต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การวิเคราะห์รูปแบบและแนวความคิด การศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่ เพื่อกำหนดตำแหน่งที่ตั้งให้มีความเหมาะสมในการทำโครงการ ตลอดจนการใช้พื้นที่โครงการที่เชื่อมต่อกับพื้นที่โดยรอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

โดยในช่วงเริ่มต้นศึกษาโครงการ มีการนำเสนอแผนการสร้างเส้นทางสกายวอล์คและหอชมเมืองบริเวณเขาคอหงส์ด้วย แต่จากการศึกษาโครงการพบว่าพื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตทหารและอาจกระทบต่อความมั่นคงได้ อบจ.สงขลา และเทศบาลนครหาดใหญ่ มีความเห็นตรงกันว่าทางเทศบาลมีแผนจะปรับปรุงพื้นที่ลาตุรัสนครหาดใหญ่ หน้าหอนาฬิกา หอประชุมพลาซ่าอยู่แล้ว และพื้นที่ดังกล่าวก็มีความเหมาะสมในการสร้างหอชมเมืองเพราะมีพื้นที่กว้างสามารถรองรับการจอดรถได้กว่า 400 คัน และเมืองหาดใหญ่หรือหัวเมืองในภาคใต้ก็ยังไม่มีหอชมเมืองเลย ซึ่งหากโครงการนี้สำเร็จก็จะเป็นหอชมเมืองที่มีความสูงอันดับ 3 ของประเทศรองจากพัทยา และสมุทรปราการ

ด้านนายพิพัฒน์พงศ์ แก้วสุวรรณ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการผังเมือง กล่าวว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ได้ดำเนินการจ้างบริษัท เอ-เซเว่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด ให้เศึกษาความเหมาะสมของโครงการ เนื่องจากการก่อสร้างหอชมเมืองและสกายวอล์ค เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีความสลับซับซ้อน ทั้งในด้านการออกแบบ และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาออกแบบแนวคิดหอชมเมือง และสกายวอล์คในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พร้อมทั้งศึกษาออกแบบด้านสถาปัตยกรรม และด้านโครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับพื้นที่โครงการ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พร้อมศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมภายในพื้นที่โครงการ

และเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ณ โรงแรมคริสตัล อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบความเป็นมา วัตถุประสงค์ และแผนดำเนินโครงการฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 310 คน โดยที่ประชุมได้ให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา ซึ่งคณะที่ปรึกษาได้นำเสนอข้อคิดเห็นดังกล่าว มาประกอบการศึกษาโครงการให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด และสำหรับการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ เป็นการนำเสนอสรุปผลการวิเคราะห์สถานที่ตั้งที่เหมาะสมของโครงการ รวมไปถึงแนวคิดการออกแบบ การวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ ทั้งในด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน และบริษัทที่ปรึกษาจะนำผลของการประชุมในวันนี้ ไปประกอบการดำเนินงานศึกษาโครงการ เพื่อให้โครงการสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ต่อไป

ส่วนระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างหากผ่านการศึกษาความเป็นไปได้ก็จะใช้เวลา 1 ปี ในการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และใช้ระยะเวลาการก่อสร้างอีกประมาณ 2 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569-70 ส่วนงบประมาณโครงการในการศึกษาเบื้องต้น งบประมาณดำเนินโครงการรวมทั้งสิ้นอยู่ที่ 515 ล้านบาท