​พิธีลอดซุ้มประตูป่าวันวิสาขาบูชา หนึ่งเดียวในสยามประเทศที่ "วัดห้วยหลาด" รัตภูมิ


4 มิ.ย. 2566

3 มิถุนายน 2566 วัดห้วยหลาด ต.คูหาใต้ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา จัดพิธีลอดซุ้มประตูป่า "วันวิสาขบูชา" ซึ่งเป็นประเพณีท้องถิ่นหนึ่งเดียวที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนานกว่า 68 ปี พิธีสรงน้ำหลวงปู่สีมั่น เทพอินโท พระผู้สร้างวัดแห่งนี้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับหลวงยุคหลวงปู่ทวดเหยีบน้ำทะเลจืด และพระบูรพาจารย์ รวมถึงการสักการะสรีระสังขารพระครูโกวิทธรรมสาร หรืออาจารย์กลาย อดีตเจ้าคณะอำเภอรัตภูมิ และอดีตเจ้าอาวาสวัดห้วยหลาด ที่มรณภาพตั้งแต่ปี 2559 แต่สังขารไม่เน่าเปื่อยและถูกบรรจุในโลงแก้ว


สำหรับพิธีตามข้อมูลที่เล่าสืบต่อกันมาบันทึกว่า “พิธีลอดซุ้มประตูป่า” เป็นพิธีที่ได้คำชี้แนะมาจาก "หลวงปู่สีมั่น เทพอินโท" ที่ได้ลงมาประทับทรงในร่างของพระอธิการขาว ติสฺสวํโส หรือ หลวงปู่ขาว เจ้าอาวาสวัดรูปที่ 3 โดยให้มีพิธีลอดซุ้มประตูป่า เพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลให้ญาติโยมที่มาร่วมทำบุญที่วัด ซึ่งจะมีการลงแรงของชาวบ้านในการสร้างซุ้มประตูป่าขึ้นมา เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้ลอด พร้อมกับให้พระภิกษุสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ พิธีนี้ถอดแบบมาจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยพระพุทธกาล ที่เมืองเวสาลี ครั้งนั้นเกิดโรคภัย ข้าวยากหมากแพง ประชาชนเดือดร้อนแสนสาหัส ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงได้มีการอัญเชิญสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาช่วยปัดเป่าขจัดทุกข์ภัยที่เกิดขึ้น พระพุทธองศ์ได้สั่งให้พระอานนท์นำบาตรมาใส่น้ำประกอบพิธี ทำน้ำพระพุทธมนต์ ประพรมให้กับประชาชน ทำให้เกิดกำลังใจ พ้นจากทุกข์ จากโรคภัย ภยันตราย มนต์ดำต่างๆ

"วัดห้วยหลาด" ได้สืบต่อปฏิบัติกันมาทำให้ลอดซุ้มประตูป่า เป็นประเพณีประจำปีของทางวัดมาอย่างยาวนาน ในสมัยของ“พระครูโกวิทธรรมสาร” หรือ “อาจารย์กลาย” อดีตเจ้าคณะอำเภอรัตภูมิ และอดีตเจ้าอาวาสวัดห้วยหลาด พิธีลอดซุ้มประตูป่าได้เป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น มีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ ให้ความสนใจร่วมพิธีเป็นจำนวนมากในทุกปี เมื่อสิ้นอายุขัยพ่อท่านกลายในปี พ.ศ.2559 พระปลัดวรวิท ฐิตธมฺโม เจ้าอาวาสรูปปัจุบัน ได้สืบทอดพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ให้อยู่คู่วัดห้วยหลาด สืบต่อมาในทุกปีโดยมีพิธีกรรม 2 วัน คือ

ก่อนวันวิสาขบูชา มีพิธีแห่รูปเหมือนหลวงปู่สีมั่น เทพอินโท และบูรพาจารย์ออกจากวิหารขึ้นเบญจาสรงน้ำ ญาติโยมร่วมสรงน้ำได้ตลอดทั้งวัน และในวันวิสาขบูชา มีพิธียกครูบูชาคุณ การถวายมหาสังฆทานร่วมกันก่อนเข้าสู่พิธี "ลอดซุ้มประตูป่า" โดยเจ้าอาวาสวัดห้วยหลาด นำขบวนลอดซุ้มป่าผ่านไปก่อนแล้วจึงไปนั่งเจริญพระพุทธมนต์และประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้ญาติโยม ขณะเดียวกันพระภิกษุสงฆ์จะสวดมนต์เพื่ออวยพรชัย เพื่อเป็นการเสริมสิริมงคล เพื่อปัดเป่าอัปมงคล โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ให้ผู้ร่วมพิธี และปิดทองรูปเหมือนบูรพาจารย์ของวัดห้วยหลาด

“พิธีลอดซุ้มประตูป่า" เกิดจากพลังศรัทธาของสาธุชนจำนวนมากที่มาร่วมพิธีด้วยการสร้างซุ้มด้วยกันคนละไม้คนละมือ ช่วยกันตระเตรียมงานต่างๆ ก่อนถึงวันเริ่มพิธีเป็นแรมเดือน และยังมีการบวชเนกขัมมะหรือชีพราหมณ์ ทั้งบุรุษ ทั้งสตรี จะร่วมบวชปฏิบัติธรรมเป็นเวลา 3 วัน เพื่อเป็นสิริมงคลด้วย และอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจของวัดแห่งนี้คือการได้สักการะสรีระสังขารพระครูโกวิทธรรมสาร หรืออาจารย์กลาย พระอริยสงฆ์แห่งสงขลา อดีตเจ้าคณะอำเภอรัตภูมิ และอดีตเจ้าอาวาสวัดห้วยหลาด ที่มรณภาพตั้งแต่ปี 2559 แต่สังขารไม่เน่าเปื่อยและถูกบรรจุในโลงแก้ว เปิดให้ลูกศิษย์และผู้ร่วมบุญได้กราบสักการะขอพรกันด้วย

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับหลวงปู่สีมั่น เทพอินโท ตามประวัติบันทึกว่าเป็นพระภิกษุในยุคเดียวกับหลวงปู่ทวด ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ได้เดินธุดงค์จากจังหวัดเพชรบุรี มาถึง ต.คูหาใต้ อ.รัตภูมิ ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นป่าเต็มไปด้วยความสงบจึงปักกลด กระทั่งมีชาวบ้านมาช่วยกันสร้างเสนาสนะ จนกลายเป็นวัด ก่อนได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2478 และผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2482 “หลวงปู่สีมั่น เทพอินโท” พระผู้เป็นดั่งปฐมบทของวัดห้วยหลาด และมีการหล่อรูปเหมือนประดิษฐานภายในวิหาร และจะมีการอัญเชิญขึ้นสู่เบญจาให้ญาติโยมได้สรงน้ำ และปิดทองรูปเหมือนได้ปีละครั้งในช่วงพิธีลอดซุ้มประตูป่าเท่านั้น

สาระน่ารู้เกี่ยวกับพิธีขึ้นเบญจา

เบญจาหรือเบญจะ แปลว่าองค์ 5 ประการ มีหลักธรรมสอดแทรก ความเชื่อโบราณเรื่องเทพเจ้าหรือสิ่งที่เคารพสูงสุดเปรียบเทียบเบญจา เหมือนกับเขาพระสุเมรุที่มีเทพเจ้าสูงสุดดูแลรักษาอยู่ ในโบราณเมื่อให้ความเคารพนับถือบุคคลใดก็จะยกเบญจาเพื่อบูชาบุคคลนั้น ผู้ที่จะนั่งเบญจาหรือยกเบญจาได้นั้นต้องมีบุญมีวาสนามีบารมี การยกเบญจาของวัดห้วยหลาด เป็นเบญจายอดแรกของอำเภอรัตภูมิ คณะสงฆ์และศิษย์ยานุศิษย์ พร้อมทั้งพุทธศาสนิกชนชาวบ้านมีความเคารพนับถือในหลวงปู่สีมั่น พ่อท่านสุข และพระอาจารย์พระครูโกวิทธรรมสาร เป็นอันมากจึงยกเบญจาถวายใช้งบพอสมควรเพื่อเชิดชูบูชาคุณและเป็นการสอนธรรมะในรูปแบบของปรัชญาท้องถิ่น

เบญจา แปลว่าองค์ 5 ซึ่งเลข 5 นั้นเป็นเลขตัวแทนของครูบาอาจารย์ หรือหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเรียกว่าภาระธรรม 5 ประการ มี ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา หรือจะเป็นเบญจขันธ์ คือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ หรือศีล 5 เป็นต้น มีชั้นสามารถเดินทำประทักษิณได้ 3 ชั้น มาจากหลักธรรมในธรรมจักรกัปปวัตตนสูตรเรียกว่า ปริวัตร 3 มีเสารอบนอก 12 เสา ก็มาจากธรรมจักรกัปปวัตตนสูตรเรียกว่าอาการ 12 มีเสาชั้นในที่รองรับหลังคาเบญจา 8 เสา เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ 8 และมีปริศนาธรรมอีกมากมาย